วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กลับไปอีกครั้ง .. กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ .. ภาคจบ ..

 

| ภาคแรก | ภาคจบ |

ในเอนทรี่ก่อนทิ้งท้ายเอาไว้ว่า จะพาไปชมอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และอาคาร 3 พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องเดินออกจากอาคาร 1 ที่เราเข้าชมไปเมื่อเอนทรี่ก่อนนั้น ผ่านไปทางลานจอดรถแล้วเข้าสู่อาคาร 2 โดยที่พื้นที่รอบๆ ก่อนเข้าสู่ตัวอาคารก็จะมีเหล่าบรรดาสัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ยักษ์ที่ใช้ชีวิตครองโลกอยู่เมื่อ 65 ล้านปีล่วงมาแล้ว นำทีมโดยพระเอกรูปหล่อมาดเท่ห์ยอดฮิตของไทยเราอย่างสยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส หรือว่าจะเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ใจดีอย่างภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน หรือแม้แต่เจ้าตัวเล็กสุดแสบอย่างเวโลซิแร็พเตอร์ มาจนถึงยุคต่อมาอย่างเสือเขี้ยวดาบ  และเมื่อยุคของไดโนเสาร์จากไป โลกก็ผ่านช่วงเวลาเข้ามาสู่ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้วิวัฒนาการขึ้นมาครองโลกทดแทนกัน จนวิวัฒนาการล่าสุดมีมนุษย์ถ้ำในยุคต่างๆ ก่อนจะมาถึงจุดสุดท้ายกลายเป็นโฮโมเซเปี้ยน เซเปี้ยนในปัจจุบันนี้


สยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส อยู่ในตอนต้นของยุดครีเตเชียส ขุดค้นพบในประเทศไทยของเราเองที่จังหวัดขอนแก่นครับ

จากตรงนี้ก็เข้าสู่ตัวอาคารที่มีการจัดแสดงโดยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ตั้งแต่เริ่มกำเนิดของโลก จนเริ่มมีน้ำมีต้นไม้และเกิดสัตว์ในทะเล จนคืบคลานขึ้นมาสู่พื้นดินกลายเป็นไดโนเสาร์ และเข้าสู่วิกฤติมหันตภัยที่จบชิวิตของไดโนเสาร์ทุกตัวให้ล้มตายหายไปพร้อมๆ กันจนหมดทั้งโลก แล้วโลกต้องเข้าสู่ช่วงของการเริ่มซ่อมสร้างตัวเองจนเกิดชีวิตใหม่ที่ขึ้นมาทดแทน หากว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อนไม่เกิดมหันตภัยครั้งนั้น และเหล่าสัตว์เลื้อยคลานอย่างไดโนเสาร์ยังเดินเพ่นพ่านครองโลกใบนี้อยู่ กลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) อาจไม่มีโอกาสได้วิวัฒนาการมาจนเป็นอย่างทุกวันนี้ รวมถึงมนุษย์ก็อาจจะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ




ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์คอยาว (ซอโรพอด)ขนาดกลางแห่งยุคครีเตเชียส เป็นชนิดแรกที่พบในประเทศไทย

เส้นแบ่งแห่งวิวัฒนาการเมื่อ 65 ล้านปีก่อนนั้น ช่วยแบ่งแยกยุคของเรากับยุคดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออกจากกันและยังทำให้พวกเรามีตัวตนขึ้นได้จนถึงทุกวันนี้อีกด้วย ส่วนของด้านในอาคารนั้น การจัดให้เราเดินไปตามเส้นทางที่เป็นไปตามลำดับผ่านยุคสมัยต่างๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจและมองเห็นภาพของวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดต่างๆ เพื่อคอยให้ข้อมูลความรู้กับเด็กๆ และผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี

จากบรรทัดนี้ให้ภาพถ่ายและคำบรรยายช่วยเล่าเรื่องต่อเลยแล้วกันนะครับ

 
เข้าประตูมาก็ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานก่อนจะเข้าไปผ้านอุโมงค์กาลเวลา .. / เข้ามาชมวิดีทัศน์จำลองปรากฎการณ์การกำเนิดของโลกสีฟ้าใบนี้ครับ ตั้งแต่การก่อเกิดดวงอาทิตย์จนมาเป็นระบบสุริยะและดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบ

 
เดินเข้ามาก็เจอกับแผนภูมิขนาดใหญ่เต็มผนัง แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของชีวิต เป็นการศึกษาถึงเรื่องของอะตอมและโมเลกุลต่างๆ ที่รวมตัวกันก่อให้เกิดเป็นชีวิตเล็กๆ แล้วค่อยๆ วิวัฒนาการทีละเล็กทีละน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานับหลายๆ ล้านปีจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นอย่างเฉกเช่นในปัจจุบัน / เข้าสู่อุโมงค์แห่งกาลเวลาเพื่อย้อนไปดูวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัย

เอาล่ะไหนๆ เราก็พูดถึงเรื่องนี้กันแล้ว ผมก็จะลองเรียบเรียงลำดับของยุคต่างในแต่ละช่วงของวิวัฒนาการไว้ในเอนทรี่นี้เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจซักหน่อยก็แล้วกัน ทราบไว้เป็นความรู้รอบตัวเอาไว้ไปเล่าให้ลูกๆ หลานๆ ฟังได้นะ  เพราะเด็กๆ แทบจะทุกคนจะชอบและให้ความสนใจกับเรื่องของไดโนเสาร์มากๆ ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน พอเล่าเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ยุคน้ำแข็ง หรือยุคหินเมื่อไหร่ ลูกชายผมเป็นต้องเข้ามานั่งฟังอย่างสนอกสนใจ มีคำถามมาถามได้ไม่หยุดหย่อน แล้วก็ชอบให้เล่าให้ฟังอีกบ่อยๆ ด้วยนะ แม้ว่าจะเล่าเหมือนเดิมก็เถอะ (ก็เค้าได้ศึกษามาแล้วเขียนตำรับตำราออกมาแบบนั้น ไม่ว่าจะเล่าซักกี่ทีมันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ .. แต่ก็ชอบฟังนะนั่น) มาเริ่มต้นกันเลยครับ ..


(ซ้าย) ภาพจาก http://ontario-geofish.blogspot.com/2011/11/massive-permian-co2-spill-exactly-same.html
(ขวา) ภาพจาก http://mail.colonial.net/~hkaiter/paleontology.html

อาจแตกต่างกันนิดหน่อยในช่วงปีของแต่ละยุคนะครับ ต่างสำนักต่างสถาบัน ไม่มีใครถูกทั้งหมดหรอกครับ การพิสูจน์ตัวอย่างฟอสซิลด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี หรือคาร์บอน-14 ซึ่งอาจจะยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เราไม่ใช่นักวิชาการก็เพียงแค่อาศัยดูไว้เป็นแนวทางแล้วก็สังเกตว่าแต่ละยุคมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้นก็พอ หากสนใจในเรื่องนี้คงต้องศึกษาเพิ่มเติมกันอีกเยอะเลยทีเดียวล่ะ


(ซ้าย) ภาพจาก http://www.geol.umd.edu/~tholtz/G102/102meso1.htm 
(ขวา) ยุคเมโสโซอิค ที่จัดแสดงในอาคาร 2

เริ่มต้นจากมหายุคพรีแคมเบรียน (Pre-Cambrian Era : ประมาณ 4,567 - 545 ล้านปีก่อน) ตั้งแต่กำเนิดโลกใบนี้ ที่โลกยังร้อนอยู่ มีแต่หินหลอมละลายเต็มไปหมด มีแต่ก๊าซพิษอยู่ทุกอณูของชั้นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของโลกยังไม่เหมาะสมกับการกำเนิดชิวิต จึงยังไม่มีชีวิตใดๆ จะสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกในสภาพเช่นนั้นได้

จนมาสู่ยุคพาเลโอโซอิค (Paleozoic Era : 545 - 251 ล้านปีก่อน) ที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เกิดจากการรวมตัวกันของโปรตีนในอะตอมต่างๆ มาเกาะเกี่ยวเข้าหากันจนเกิดเป็นชีวิตที่มีรูปแบบง่ายๆ ขึ้นในท้องทะเล ส่วนบนพื้นดินก็มีเหล่าพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์เริ่มเติบโตเผยแผ่กิ่งก้านสาขาจนสูงใหญ่เต็มไปทั่วบริเวณ เริ่มมีสัตวฺเลื้อยคลานกำเนิดขึ้นและแมลงปีกแข็งที่บินได้รวมถึงพืชกลุ่มที่มีสปอร์ ทั้งหมดใช้เวลานานถึงกว่า 294 ล้านปีในการวิวัฒนาการจนเกิดรูปแบบชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น

แล้วก็เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 251 ล้านปีก่อนที่นักวิชาการเรียกว่า Permian-Triassic Extinction
จากก็เริ่มเข้าสู่ยุคเมโสโซอิค (Mesozoic Era : 251 - 65 ล้านปีก่อน) เป็นช่วงเวลาเกือบ 200 ล้านปีที่สัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ยักษ์หลากหลายสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการจากรูปแบบชีวิตง่ายๆ ในยุคพาเลโอโซอิคจนเป็นชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้นในยุคนี้ พวกมันเติบโตขึ้นมาครองโลกในยุคนี้ไปทั่วทุกหัวระแหง ยุคนี้แหละที่เป็นต้นเนิดของตำนานไดโนเสาร์หลายๆ เรื่องที่มีชื่อเสียงของฮอลลี่วู๊ด

ในยุคนี้จะแบ่งเป็นยุคย่อยๆ อีก 3 ยุคคือ ไทรแอสสิค (251 - 205 ล้านปีก่อน), จูราสสิค (205 - 141 ล้านปีก่อน) และครีเตเชียส (141 - 65 ล้านปีก่อน) ซึ่งไดโนเสาร์ที่ถูกขุดค้นพบในประเทศไทยนั้นว่ากันว่าเคยมีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียสนี่แหละ รวมถึงทั้งสองสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงอย่างสยามโมไทแรนนัส สยามเอนซิสและภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเนด้วย ในยุคเมโสโซอิคนี้ จะเริ่มมีนกตัวแรกถือกำเนิดเกิดขึ้นบนโลก และเมื่อเข้าสู่ในช่วงปลายยุคนี้ทวีปออสเตรเลียก็เริ่มแยกตัวออกจากแอนตาร์กติก้า จากนั้นโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ..

เพราะเกิดมหันตภัยล้างโลกที่เรารู้จักกันดีในชื่อ World-wide Extinction เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ The Last Dinosaur แล้วโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคต่อไป

 
ช้างแมมมอธ มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ของยุคซีโนโซอิค .. ส่วนนายแบบใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานในยุคนี้แหละ .. 555+


(ซ้าย) ภาพจาก http://www.student.chula.ac.th/~53370766/
(ขวา) ภาพจาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/of_the_human/index.html

นั่นก็คือยุคซีโนโซอิค (Cenozoic Era : 65 ล้านปีก่อน จนถึงปัจจุบัน) ถ้าหากยังมีไดโนเสาร์ พวกเราเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคงไม่มีโอกาสถือกำเนิดแน่ๆ อุกาบาตล้างโลกในครั้งนั้นเป็นเส้นแบ่งทางวิวัฒนาการที่กำหนดให้สายพันธุ์หนึ่งที่เคยยิ่งใหญ่ต้องล้มหายตายจากไปจนหมดสิ้น เพื่อให้เผ่าพันธุ์ใหม่ที่ทรงพลังทางสติปัญญาได้มีโอกาสวิวัฒนาการตัวเองขึ้นมาเพื่อครอบครองโลกสีฟ้าใบนี้ทดแทนยักษใหญ่เหล่านั้นได้อย่างไม่เคอะเขิน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) หลายสายพันธุ์ได้ถูกทดสอบจากธรรมชาติเพื่อคัดเลือกเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งและสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ โดยใช้ยุคน้ำแข็ง (Ice Age : 1.8 ล้านปีก่อน - 11,000 ปีก่อน) เป็นเครื่องมือ แล้วก็ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับที่จะขึ้นมาครองโลกในยุคนี้ นั่นก็คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” นั่นเอง

เอาเป็นว่าเราไปชมพิพิธภัณฑ์กันต่อดีกว่า ถ้าเล่าต่ออีกคงไม่จบง่ายๆ แน่นอนเพราะรายละเอียดมันยังมีอีกเยอะ


(ซ้าย) ภาพสามมิติ เข้าไปยืนแล้วถ่ายภาพมาเหมือนอยู่ในดอกไม้
(ขวาบน) อาณาขักรเห็ดรา หรือพืชจำพวกมีสปอร์
(ขวาล่าง) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคซีโนโซอิค นายแบบของผมก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก(ตัว)คน แต่ดูๆ ไปเหมือนจะเลี้ยงด้วยคอมพิวเตอร์กับทีวีมากกว่านะ .. 555+

เดินออกจากอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ก็เดินเลาะไปทางด้านหลังเพื่อไปสู่อาคาร 3 กันบ้างนะครับ ที่อาคารนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์สารสนเทศ  เข้าไปทำความรู้จักกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราในยุคสมัยนี้ ตั้งแต่ต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์และวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของแต่ละยุคสมัยของการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีดาวเทียม, ระบบใยแก้วนำแสง (Optical Fiber), ระบบ Simulation, ระบบการออกอากาศวิทยุ โทรทัศน์, การทำงานของระบบโทรศัพท์เซลลูล่าร์, การเขียนคำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อใช้บังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหว และอีกหลายๆ เทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในอนาคตอันใกล้นี้ ลองตามไปชมพร้อมๆ กันนะครับ


(ซ้าย) มีสัญลักษณ์นี้เป็นอนุสาวรีย์อยู่ด้านหน้าอาคาร 3
(ขวาบน) ด้านหน้าทางเข้าอาคาร
(ขวาล่าง) เข้าประตูมาใส่ล็อบบี้ก่อนจะเข้าสู่ส่วนใน
 
ทางเดินลาดขึ้นไป ลักษณะของทางเดินจะบังคับให้เราเดินผ่านไปตามเส้นทางขึ้นสู่ด้านบนก่อนจะลงมาทีละชั้นจนถึงชั้นเพื่อชมส่วนจัดแสดงจนถึงชั้นล่างสุดเพื่อกลับออกสู่ประตูอีกด้านหนึ่ง

 
ความเร็วในการส่งสัญญาณ / เทคโนโลยีการพิมพ์ / การสื่อสารเชื่อมโลก

 
การแผ่สัญญาณวิทยุกระจายเสียง / มองจากด้านบน จะเห็นส่วนจัดแสดงด้านล่างที่จัดไว้อย่างสวยงาม


(ซ้าย) รู้จักกับคอมพิวเตอร์
(ขวาบน) ชุมสายอัตโนมัติ
(ขวาล่าง) ระบบโทรศัพท์ไร้สายแบบเซลลูล่าร์

เทคโนโลยีของระบบแผงวงจรรวม ที่เราใช้ในคอมพิวเตอร์


ทดสอบการใช้คำสั่งภาษาปาสคาล ในการบังคับหุ่นยนต์ ..


Optical Fiber หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ใยแก้วนำแสง ที่เป็นมาตรฐานของการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงในปัจจุบัน


ระบบ GPS ที่เราคุ้นเคยในรถยนต์นั่นเอง ชื่อเต็มๆ ว่า Global Positioning System ที่ผนวกระบบนำร่องด้วยดาวเทียม (Satellite Navigation) เข้าไปด้วย

เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาอยู่ใกล้กับเรามากขึ้นทุกวัน เรากำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยอยู่ในรูปของสินค้าและบริการในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ / ก่อนออกจากอาคารนี้ก็จะพบกับ IT Theater ไม่ได้เข้าไปดูเพราะไม่มีรอบเย็นหรือรอบค่ำให้ชมกัน

แล้วก็ได้เวลาต้องโบกมือลาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ณ คลองห้า ปทุมธานีแห่งนี้ ได้ความรู้ใส่สมองเพิ่มเติมมากมายทั้งพ่อทั้งลูก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่สรรสร้างความฉลาดให้กับเด็กไทยในรุ่นต่อไปได้เป็นอย่างดี  อดีตเด็กไทยอย่างรุ่นผมก็ได้มารำลึกความหลัง ย้อมกลับมาเก็บเกี่ยวความสนุกสนานในวัยเด็กได้อีกครั้ง ได้ทบทวนหลายสิ่งหลายอย่างที่อาจจะหลงลืมไปบ้างแล้วจากระยะเวลาเนิ่นนานที่ผ่านไป

วันนี้มีความสุขกันมากมายครับ อยากขอเชิญชวนให้พาครอบครัวของคุณเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อนในวันหยุดจากไปเดินเล่นตากแอร์ตามห้างสรรพสินค้าหรือช็อปปิ้งมอลล์ชื่อดังทั้งหลายมาเที่ยวแบบนี้กันบ้าง แล้วจะรู้ว่าสนุกสนานแบบได้ความรู้นั้นมันก็มีอยู่จริงนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามรับชมนะครับ
ชมภาพเพิ่มเติมของทริปนี้ได้โดย คลิ๊กที่นี่ ครับ

| ภาคแรก | ภาคจบ |

 

เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2555 เวลา 23:45 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน : Tombass

วันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กลับไปอีกครั้ง .. กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ .. ภาคแรก ..

| ภาคแรก | ภาคจบ |


ภาพด้านหน้าของอาคารรูปลูกบาศก์ ..

สัญญากับเอแคลร์ไว้ตั้งแต่ไปเที่ยวครั้งแรกว่าจะพากลับไปเที่ยวอีกครั้ง เมื่อชั้น 6 ที่ปิดปรับปรุงอยู่ขณะนั้นเปิดให้เข้าชมได้ นี่ก็ผ่านมาเนิ่นนานแล้ว ชั้น 6 ก็เปิดมาเป็นปีแล้วก็ยังหาเวลาพาไปชมไม่ได้ ก่อนหน้านี้ประมาณเดือนที่แล้วก็ขับไปจนถึงแล้วแต่สงสัยว่าทำไมถึงไม่มีคนเลย เห็นแต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เลยจอดรถถาม ก็ได้ความกระจ่างว่า พิพิธภัณฑ์ปิดวันจันทร์นะจ๊ะ ก็พลันนึกขึ้นมาได้ว่าพิพิธภัณฑ์แทบทุกที่ส่วนมากจะปิดในวันจันทร์ เสียเที่ยวเลยแต่ทำยังไงได้ล่ะก็กว่าหยุดพร้อมๆ กันได้เนอะ

มาคราวนี้ไม่พลาดแล้ว ไปลุยกันสองคนพ่อลูก สัญญากันเป็นมั่นเป็นเหมาะขนาดนี้แล้วจะไม่พาไปก็คงจะกลายเป็นคนผิดคำพูดซะเปล่าๆ ฤกษ์งามยามดีเวลาสิบโมงสามสิบนาทีของวันอาทิตย์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 ออกเดินทางกันโดยน้องแจ๊ส พาวิ่งตามถนนเสรีไทยไปขึ้นถนนวงแหวนตะวันออกมุ่งหน้าทางออกลำลูกกา แล้วตรงดิ่งวิ่งเลาะตามทางขนานเลียบถนนวงแหวนตะวันออกเพื่อเลี่ยงด่านเก็บเงินค่าผ่านทาง ไปออกข้างวัดแถวๆ คลองห้า บนถนนรังสิต-นครนายก เลี้ยวซ้ายไปกลับรถวิ่งผ่านถนนวงแหวนอีกครั้ง พอข้ามสะพานเลี้ยวซ้ายอีกทีแบบยูเทิร์นวิ่งเข้าไปตามถนนเลียบคลองห้า ไปตามทางจนถึงเทคโนธานีอยู่ด้านขวามือ เลี้ยวเข้าไปได้เลยครับ ข้างในเกือบสุดจะเป็นวงเวียน ใช้ทางออกแรก แล้วไปตามทางเลี้ยวซ้ายอีกที ตรงไปจะเห็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อยู่ทางขวามือครับ ที่นี่มีชื่อภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการซะโก้หรูว่า National Science Museum (NSM)

วันนี้ผู้คนดูหนาตามากๆ เหมือนว่าจะมีกลุ่มเด็กนักเรียนตัวน้อยมาทัศนศึกษากันด้วย ส่วนเด็กโตหน่อยระดับมัธยมก็เห็นมีมาเดินเที่ยวเล่นกันที่นี่เยอะแยะเช่นกัน ทำให้รู้สึกว่า เด็กสมัยนี้เค้าไม่ต้องไปเดินเที่ยวห้างโน้นนี้ให้เสียเงินเสียทองมากมาย มาเที่ยวที่นี่สำหรับเด็กไม่เสียค่าเข้าชมนะ และก็ยังมีผู้ปกครองพาลูกหลานมาเที่ยวชมกันจนที่จอดรถเกือบเต็มทุกช่องทั้งที่มีที่จอดนับร้อยคัน เป็นการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้เวลาว่างมาหาความรู้เพิ่มเติม รู้สึกว่ายังมีหวังได้เห็นเยาวชนของชาติในรุ่นต่อไปมีความรู้ความคิด ที่จะช่วยพัฒนาประเทศให้ก้าวสู่ยุค IT อย่างเท่าทันเพื่อนบ้าน

บัตรเข้าชมครับ .. สำหรับผู้ใหญ่ เป็นบัตรชุดราคา 100 บาท ..

มาถึงสิบเอ็ดโมงกว่าแล้ว เลยเอาข้าวเหนียวหมูปิ้งที่คุณย่าใส่รถมาเพื่อเป็นเสบียงยามเดินทาง ออกมาให้เอแคลร์กินซะให้เรียบร้อยจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินชมพิพิธภัณฑ์ อิ่มหนำสำราญกันดีโดยไม่ต้องเสียค่าข้าวค่าน้ำ ก็ได้เวลาต้องเข้าไปซื้อบัตรของผมกันก่อนเป็นบัตรชุดราคา 100 บาทเข้าชมได้ทั้งสามอาคาร ส่วนของเอแคลร์ไม่เก็บค่าเข้าชมครับ หลังจากนั้นเราสองคนก็เริ่มเดินเข้าสู่โลกแห่งวิทยาศาสตร์และธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งศึกษาหาข้อมูลความรู้ที่ดีมากมาย ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไปเดินดูก็ได้รู้ได้เห็นสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อนหรือบางสิ่งบางอย่างที่เราหลงลืมไปบ้างแล้ว ช่วยให้เราได้ฉุดกระชากลากวัยให้เกิดความรู้สึกรำลึกถึงความสุขในวัยเยาว์กับการย้อนเวลากลับไปสู่โลกแห่งจินตนาการของวัยเด็กได้อีกครั้งเลยเชียวล่ะ

อาคารหลักที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์สองลูกต่อกันด้านในแบ่งเป็น 6 ชั้น แต่ละชั้นก็จะแยกเป็นเรื่องต่างๆ แต่ต้องขออภัยอย่างสูงที่ไม่ได้จดบันทึกรายละเอียดของแต่ละชั้นมาถ่ายทอดให้ได้ เพราะไปกันสองคนพ่อลูกต้องคอยดูเอแคลร์ด้วยไม่ให้เดินหายไปไหน เพราะเด็กๆ เยอะมากๆ แล้วก็ยังมีการจัดกิจกรรมการละเล่นและสันทนาการต่างๆ ให้กลุ่มเด็กๆ ที่มาทัศนศึกษาด้วย โดยให้มีการแข่งขันแบบ Walk Rally มีการให้หา RC ตามจุดต่างๆ ในแต่ละชั้นด้วย ครึกครื้นสนุกสนานน่ารักน่าเอ็นดูตามประสาเด็กๆ ก็เลยกลัวลูกเราจะมั่วนิ่มเข้าไปเล่นกับเค้าด้วยแล้วคลาดกันก็พลันจะแย่เอาน๊า ก็เลยต้องคอยจับคอยเรียกไว้เป็นระยะๆ เป็นเหตุให้ไม่ได้ข้อมูลมาฝากมากนักเพราะอาศัยจำๆๆๆๆ แล้วเอากลับมาเขียนเก็บไว้เท่าที่จำได้แค่นั้น

เป้าหมายจริงๆ ในครั้งนี้ก็คือจะมาดูชั้น 6 ที่ปิดปรับปรุงเมื่อต้นปีที่แล้วคราวที่มาครั้งแรกแต่ตอนนี้เปิดแล้ว เลยจะมาดูให้ชัดๆ ในส่วนของชั้นชั้น 6 นี้เค้าจัดแสดงเรื่องของเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย เลยเดินกันอยู่ที่ชั้น 6 นี้นานหน่อย เพราะชั้นอื่นๆ เคยดูแล้ว เดี๋ยวลองดูภาพตามกันไปทีละชั้นเลยก็แล้วกันนะครับ

เริ่มกันที่ชั้น 1 .. เรื่อง .. อ่อ .. นึกไม่ออกครับ .. ลองดูเอาแล้วกันนะครับ ..

 
ระบบสุริยะ .. ไหนๆๆ ดูซิว่าโลกของเราอยู่ตรงไหนเอ่ย / ระบบ Hybrid ของรถยนต์ นำแสดงโดย TOYOTA PRIUS เอามาผ่าให้เห็นกันชัดๆ ไปเลย

แล้วก็ขึ้นมาต่อที่ชั้น 2 เรื่องการค้นพบ, โลกที่เปราะบาง

 
อยู่ที่ชั้น 1 ถ่ายกับป้ายซะหน่อย .. เอาไว้เป็นหลักฐาน .. / ป้าลูซี่ .. บรรพบุรุษของมนุษย์ .. / ทำไมต้องเดินผ่านท่อนี้เพื่อไปขึ้นชั้น 3 ด้วยน๊า ..

ต่อไปก็ชั้น 3 เรื่องของวิทยาศาสตร์พื้นฐาน, อุโมงค์พลังงาน, โรงภาพยนตร์

 
พลาสมา .. / พลังงานสะสมของสสารและโมเลกุล (ใช่หรือเปล่าหว่า?) / อุโมงค์พลังงาน ..

 
ในอุโมงค์พลังงาน .. มีการจำลองการสั่นของแผ่นดินไหว .. ยืนไปสั่นๆๆๆๆๆ ไปด้วย .. / กล้องตรวจจับรังสีความร้อน แถวๆ นี้มีเรื่องของแรงโน้มถ่วง, การทรงตัว, แรงเสียดทาน ฯลฯ

มาดูที่ชั้น 4 กันบ้าง .. เรื่องของโลกของเรา, สิ่งแวดล้อม, สิ่งก่อสร้างและโครงสร้าง, เกษตรกรรม

 
ขุดหาอะไรอยู่? ถ้าอยากรู้ต้องไปดูให้เห็นกับตาครับ .. / แอ็คท่าอยู่หน้าโลกของเรา .. ผ่าให้เห็นข้างในใจกลางโลก ..


สัตว์ประหลาดรีไซเคิล .. สร้างขึ้นจากขยะที่ไร้ประโยชน์ ..

แล้วก็มาถึงชั้น 5 เรื่องร่างกายของเรา, การคมนาคม, คุณภาพชีวิต, วิทยาศาสตร์ในบ้านและอนาคต


เดินวนๆ ก็เจอเครื่องบินลำนี้ .. เจ๋งดีแฮะ ..


ผ่าให้ดูกันชัดๆ .. ว่าในร่างกายของเรามีอะไรอยู่ตรงไหนกันบ้าง ..?

 
ลองขับเครื่องบินกันไม๊ครับ? / หรือจะขอเป็นผู้โดยสารอย่างเดียวน่าจะดีกว่านะ ..

แล้วเราก็มาถึงชั้น 6 จนได้ ชั้นนี้จะเป็นเรื่องของเทคโนโลยีภูมิปัญญาไทย มาดูกันครับ


การแกะสลัก ..


วิถีชิวิตหน้าแล้ง / น้ำ


เครื่องปั้นดินเผา ..

 
ดูกันไปยาวๆ ครับ ..

ดินชนิดต่างๆ ที่เอามาทำเครื่องปั้นดินเผา ..

 
ดินขาว .. / ดินเทา ..

 
ดินแดง .. อุ๊ย งั้นก็จะขึ้นทางด่วนแล้วล่ะสิ .. คริคริ .. / ดินหินทนไฟ ..


คนไทยเรามีฝีมือในด้านการประดิดประดอย แม้เป็นข้าวของเครื่องใช้ประจำวันก็ไม่ได้ละเลยแม้สักนิด ..

 
เค้าเรียกอะไรผมก็ไม่ทราบครับ .. ใครรู้ช่วยบอกหน่อยนะ .. / อันนี้ด้วย ได้ยินแต่เสียง ไม่ทราบจุดประสงค์ของการผลิตที่แท้จริงว่าเอาไว้ทำอะไร .. ช่วยบอกด้วยนะ .. / เจอพี่เสือ อพวช. เลยถ่ายภาพเก็บเอาไว้ซักหน่อย ..

 
งานโลหะกรรม ..

 
ลองไปดูกันครับ .. หลากหลายเทคโนโลยี ที่ถูกปรับให้เข้ากับวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น ..


เรียกนายแบบมาถ่ายซักรูปซิ .. เดินไปทั่วเลย เผลอๆ ก็หายไปอีกแล้ว .. เฮ้อ ..

 
การย้อมผ้า .. / ผ้าทอของโครงการพระราชดำริ .. / สวยงามยิ่งนัก .. 

 
ดูกันใกล้ๆ ครับ .. ผ้าทอ .. / เทคโนโลยีการทอผ้า ที่มีมาช้านานแล้ว ..

 
งานละเอียดมากๆ ครับ .. / ส่วนของงานไม้ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ..

 
แบบจำลองของบ้านทรงไทย ..


เครื่องดนตรีไทย

เอาล่ะ ก็หมดแล้วสำหรับชั้น 6 ที่เฝ้ารอการมาเยือนเป็นเวลาร่วมปีเศษ จุใจกันเลยสำหรับคนที่ request จากตรงนี้เราก็พากันลงไปชั้นล่าง เพื่อออกไปดูอาคารที่ 2 และ 3 ต่อไป ซึ่งต้องเดินออกจากอาคารนี้ไป และเดินกลับไปทางลานจอดรถ เดินทะลุไปสู่อาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และอาคาร 3 พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งจะขอยกไปเขียนในเอนทรี่ต่อไปจะดีกว่า ดูเหมือนเอนทรี่นี้จะอัดแน่นไปด้วยภาพมากมายเกินไปแล้ว

เดี๋ยวเอนทรี่หน้าจะพาไปชมเจ้าแห่งโลกยุคดึกดำบรรพ์อย่างไดโนเสาร์ และเรื่อยมาสู่วิวัฒนาการของมนุษยชาติและปิดท้ายด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศที่นำพามนุษย์เข้าสู่ยุคของข้อมูลข่าวสาร พบกันเอนทรี่หน้านะครับ

ลิ้งค์ไปดูภาพเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่ ครับ
ในส่วนของ Forum ยังไม่ได้โพสครับ อย่างไรเสียก็แล้วจะรีบมาอัพเดทลิ้งค์ให้อีกทีครับ

| ภาคแรก | ภาคจบ |

เขียนเมื่อ : วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ.2555 เวลา 22:25 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน : Tombass