วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2554

ISO..เอ๊ะ..มันยังไงกันล่ะ?

ก็ว่าจะเขียนโพสนี้อยู่นานแล้ว แต่มัวแต่เงื้อง่าราคาแพงอยู่ ไม่ยอมเริ่มลงมือซักที ก็คงเป็นเพราะความขี้เกียจที่เกาะกุมเข้าไปถึงเครื่องในและไขกระดูกแล้วเลยคอยแต่ผลัดวันประกันพรุ่งอยู่ร่ำไปเช่นนี้ เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนะคร๊าบบบบ เด็กน้อยๆ อย่าเอาเยี่ยงอย่าง

ถ้าจะเอาข้ออ้างแบบที่ชอบพูดกันทั่วไป ก็ต้องบอกว่า “โอ้ยยย..งานยุ่งว่ะ ทั้งงานราษฎร์งานหลวงมันรุมเข้ามาพร้อมๆ กัน เวลาจะนอนยังไม่มีเล๊ยยย..” หรือแบบว่า “เอ่อ ช่วงนี้สุขภาพไม่ค่อยดี ตาเจ็บ ยายป่วย แมวท้อง หมาออกลูก ปลาทองท้องเสีย อีกัวน่าขาหัก ลูกหมูขี่จักรยานล้ม หรืออื่นๆ ฯลฯ .. บลา บลา บลา” ก็ว่ากันไปตามนั้น

จริงๆ เนื้อหามันน่าจะเป็นการพูดถึงบทแนะนำเบื้องต้น เพื่อความเข้าใจและนำไปต่อยอดความคิด สามารถที่จะพลิกแพลงและนำไปใช้ให้เกิดเป็นประโยชน์ได้จริง เพราะเรื่องนี้จะว่ายากก็ไม่ใช่ จะว่าง่ายก็ไม่เชิงอยู่ที่อยากจะศึกษาให้รู้ลึกเข้าไปแค่ไหน สำหรับผมก็แค่รู้เท่าที่จะเอาไปใช้เพื่อความบันเทิงประจำวันเท่านั้นก็พอ รายละเอียดทางเทคนิคก็ขอยกให้ระดับโปรเค้าถกกันไปเองดีกว่า ยูสเซอร์ขั้นพื้นฐานแบบผมคงต้องขอตัวไปรับความบันเทิงของฮอบบี้ที่โปรดปรานจะดีกว่า

ISO .. มันแปลว่าอะไรล่ะ?

ISO ย่อมาจาก International Standard Organization ตรงตัวเลยดีม๊ะ เป็นตัวชี้วัดสากลที่ตั้งขึ้นเพื่อกำหนดมาตรฐานต่างให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ตั้งขึ้นโดย International Organization for Standardization ที่มีสำนักงานอยู่ที่กรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งว่ากันว่าร่วมกันจัดตั้งขึ้นมาตั้งแต่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1947 (นั่นมันช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เลยน๊าเนี่ยะ) แล้วก็จัดตั้งคณะกรรมการเทคนิค (TC176) เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์ในการตั้งมาตรฐานที่เรียกกันว่า ISO ขึ้นในปี 1987 (ข้อมูลจาก http://www.myfirstbrain.com)

บางคนอาจจะตั้งคำถามขึ้นในใจว่า..อ้าว..แล้วมันมาเกี่ยวอะไรกับเรื่องของเราด้วยล่ะ ที่เราเห็นในกล้องที่อยู่ในมือของเราเนี่ยมันมีไว้ทำอะไร แล้วเราต้องรู้จักกับมันด้วยเหรอ? ก่อนที่จะไปรู้จักกับมัน เราต้องลองมาดูเรื่องของ Film Speed กันก่อน

เมื่อสมัยก่อนนานมาแล้วตั้งแต่อากงอาม่าล่องเรือสำเภาหอบเสื่อผืนหมอนใบมาจากโพ้นทะเล เข้ามาตั้งรกรากกันในแผ่นดินไทยขวานทองอันอุดมสมบูรณ์ น่าน..ว่าไปโน่น ไม่ถึงขนาดนั้นหรอก เอาเป็นว่าตั้งแต่สมัยยุคกล้องฟิล์มครองโลก ก็ได้มีการกำหนดความไวแสงของฟิล์มเพื่อความสะดวกในการเลือกใช้ โดยมีสองมาตรฐาน (อุ๊ย..คุ้นๆ นะคำเนี๊ยะ..อิอิ) ที่เป็นที่แพร่หลายในขณะนั้นอันได้แก่ ASA ที่ย่อมาจาก  American Standards Association และ DIN ซึ่งก็คือ Deutsches Institut für Normung ซึ่งยุคนั้นก็จะเห็นมาตรฐานทั้งสองนี้แพร่กระจายไปเป็นตัวชี้วัดในหลากหลายเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องยนต์กลไก เครื่องจักรกล อุปกรณ์ไฟฟ้า อิเลคทรอนิค ทีวี วีดีโอ เครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหลาย และอื่นๆ อีกมากมายนับหมื่นรายการ


ภาพจาก http://www.iso.org

แต่ละมาตรฐานก็ใช้กฎเกณฑ์และปัจจัยควบคุมพื้นฐานในการทดสอบต่างกัน ทำให้ประชาชนคนทั่วโลกไม่สามารถจะเปรียบเทียบความสามารถของสินค้าที่ต้องการได้หรือถ้าได้ก็จะทำได้ลำบากและไม่ได้ผลสรุปที่สมบูรณ์ ก็เลยเป็นเหตุให้ต้องมีค่ามาตรฐานกลาง (เหมือนอู่กลางของประกันอะไรทำนองนี้) อันเป็นค่าที่จะชี้วัดได้อย่างชัดเจน เลยมีองค์กรหัวใสรวมหัวกันตั้งค่ามาตรฐานขึ้นมาที่เรียกกันว่า ISO นั่นไง โดยรวมเอาสองมาตรฐานที่มีอยู่ก่อนหน้านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งของ ISO นี่ซะเลย แล้วทำไมหน่วยงานที่กำหนดมาตรฐานที่มีอยู่แล้วถึงได้ยอมเค้าซะล่ะ เพราะว่าเจ้าองค์กรขมองอิ่มที่ว่าเนี่ยมีอาศัยพวกมากลากไปน่ะสิ มันรวมเอาหลายๆ ประเทศทั่วโลกให้มาเซ็นพันธะสัญญาที่จะใช้มาตรฐานนี้ร่วมกัน ทำให้เจ้าเก่าต้องจำใจยอมมาเข้าร่วมด้วยโดยปริยาย ไม่งั้นอยู่ร่วมกันประชาชนชาวโลกลำบากแน่เพราะมาตรฐานของเจ้าเก่าก็จะไม่ได้รับการยอมรับจากประเทศที่ร่วมพันธะสัญญาฉบับนี้อย่างแน่นอน (แหมๆ ใครคิดฟระ ฉลาดจริงหนอ..มัดมือชกแท้ๆ..)

เอาแค่พอหอมปากหอมคอก็พอนะ เดี๋ยวจะกลายมาเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ซะเปล่าๆ กลับมาเรื่องของ Film Speed กันต่อ

Film Speed หรือแปลตรงๆ ตัวว่า ความเร็วของฟิล์ม (ซับนรก..จากกูเกิ้ลอ่ะนะ..ฟิล์มนะเว้ย มะช่ายรถ..) น่าจะเรียกได้ว่า “ความไวแสงของฟิล์ม” จะเข้าใจกันง่ายกว่า ในการผลิตฟิล์ม negative นั้นจะต้องมีการฉาบเคลือบสารไวแสงไปบนแผ่นฟิล์มเพื่อที่จะใช้เป็นตัวสร้างภาพ ในกระบวนการผลิตนั้นก็จะกำหนดไปว่าปริมาณสารไวแสงเท่านั้นจะได้ความเร็วของฟิล์มเท่านี้ตามมาตรฐาน ISO นั่นแหละ มีการกำหนดค่าความไวแสงของฟิล์มในแต่ละขั้นให้มีค่าเป็น 2 เท่าจากขั้นก่อน (จากต้นฉบับใช้คำว่า Doubling) ตามนี้ก็จะเป็น 25 / 50 / 100 / 200 / 400 / 800 ตามนี้ (คุ้นๆ ไม๊ เหมือนเคยเห็นที่ไหนมาก่อนหรือเปล่า? .. ในกล้องของคุณยังไงล่ะ..) ในสมัยฟิล์มด้วยข้อจำกัดในกระบวนการผลิต จึงมีฟิล์มที่มีความไวแสงเพียงไม่กี่ระดับให้เราใช้และไม่ละเอียดเหมือนในปัจจุบันอีกด้วย

และแล้วเทคโนโลยีก็พัฒนาแบบก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคของโลกดิจิตอล สัญญาณอนาล็อกแบบเดิมๆ ถูกแปลงเป็นตัวเลขฐานสองในระบบดิจิตอล โดยมี D/A Converter อันเป็นหัวใจสำคัญของสรรพสิ่งในอุปกรณ์ดิจิตอลทั้งมวล สัญญาณดิจิตอลที่ออกมาจะดีจะชั่วมันก็อยู่ที่ตัวนี้แหละ ว่ามันจะแปลงข้อมูลที่เข้ามาในแบบกี่บิท แซมปลิ้งเรทมากน้อยเพียงใด (อันนี้มันเกี่ยวหรือเปล่าหว่า?) ก่อนที่ชิพประมวลผลขั้นเทพของแต่ละสำนักจะเอาข้อมูลที่ได้ไปจัดการคำนวณตบแต่งต่อเติมด้วยสมองกลและโปรแกรมรูปแบบตัวอย่างในตัวโพรเซสเซอร์ แล้วสุดท้ายก็เอ้าท์พุทออกมาสู่มอนิเตอร์หลังกล้องให้เราได้เชยชมผลงานที่เราๆ ท่านๆ ได้บรรจงถ่ายกันนั่นเอง

Noise .. เพราะเราคู่กัน..

ในยุคของโลกดิจิตอลนั้น การเพิ่มความไวแสงของฟิล์ม ก็เปรียบได้กับการเพิ่ม ISO ของกล้องดิจิตอล แต่การเร่ง ISO แบบดิจิตอลไม่ใช่การเปลี่ยนฟิล์มให้มีความเร็วเพิ่มขึ้น แต่หากเป็นการเพิ่มแรงดันไฟฟ้าเข้าไปสู่ตัวรับภาพ ไม่ว่าจะเป็น CCD หรือ CMOS ก็ตาม เพื่อให้ตัวรับภาพเหล่านั้นมี Sensitivity ในการเก็บแสงที่เข้ามาตกกระทบเพิ่มขึ้น ซึ่งการเพิ่มแรงดันไฟฟ้าก็เท่ากับการเร่งสัญญาณรบกวนให้มากขึ้นเป็นเงาตามตัวอีกด้วย ซึ่งโดยมากจะมีหน่วยวัดแบบทั่วๆ ไปจะเรียกเป็น S/N Ratio (Signal to Noise Ratio) คืออัตราส่วนของสัญญาณ(ที่เราต้องการ)ต่อสัญญาณรบกวน(ที่ไม่พึงประสงค์จ้ะ) จะมีค่าเป็น db อันนี้ยิ่งมากจะยิ่งดีนะจ๊ะ โดยมากจะบอกแจ้งแถลงไขในส่วนของข้อมูลทางเทคนิคซะมากกว่า ยูสเซอร์ทั่วไปมักไม่ค่อยชอบอ่านตรงส่วนนี้ซะด้วยสิ

นั่นแหละ การเร่ง ISO ในกล้องดิจิตอล จึงเป็นการเร่ง Noise ให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย คราวนี้มันอยู่ที่ว่า โพรเซสเซอร์อันชาญฉลาดของแต่ละค่ายจะสามารถจัดการกับเจ้าสัญญาณรบกวนนี้ได้ดีเพียงใด การลดสัญญาณรบกวนนี้มีชื่อเรียกทางการค้าแบบโก้หรูเป็นภาษาฝรั่งว่า “Noise Reduction” นั่นเองจ้ะ แต่สิ่งที่จะสูญเสียไปจากระบบ NR นั่นก็คือความคมชัดที่จะหายไปด้วย เหตุเพราะเจ้าชิพประมวลผลที่มีมูลค่าการวิจัยหลายล้านเหรียญนั่นมันจะเกลี่ยเอาพิ๊กเซลใกล้ๆ กันเข้าหากัน ความคมชัดที่หวังไว้ทั้งที่อุตส่าห์กลั้นหายใจยืนกันตัวเกร็งก่อนจะกดชัตเตอร์แล้วกลั้นหายใจยืนนิ่งต่อไปจนชัตเตอร์ปิดเรียบร้อยถึงถอนหายใจกันได้นั้น หดหายไปหมดเพราะเจ้า NR นี่แหละ ฮ่าๆๆ

 
ภาพซ้าย ISO 100 / ส่วนภาพขวา ISO 6400 สีสันผิดแปลกจากกันอย่างเห็นได้ (คลิ๊กที่รูปเพื่อไปดูแบบใหญ่ๆ เพื่อความชัดเจน)

อีกอย่างก็คือ เมื่อสัญญาณรบกวนมากขึ้น ข้อมูลดิบที่ส่งไปให้ชิพตัวเก่งนั้นมันก็ผสมสัญญาณรบกวนนั้นไปด้วย เจ้าชิพนั่นมันก็หลับหูหลับตาประมวลผลไปตามที่รับมา และเจ้าฟิลเตอร์ที่ใช้กรองสัญญาณรบกวนก็ทำได้ดีในระดับนึงเท่านั้น ผลที่ได้นะหรือ ก็คือสีสันที่เคยมีอยู่สวยสดใส พลันก็กลับกลายเป็นสีหมองๆ ออกสีตุ่นๆ เลอะๆ ช้ำๆ อันเกิดจากการที่เอาสัญญาณรบกวนมาประมวลผลด้วยเลยเป็นแบบเนี๊ยะ หากเจอเจ้า NR ตามไปผสมโรงอีก คราวนี้จะออกมาเป็นยังไงลองนึกเอาเองเถอะ

อ๊ะๆ อาจจะมีคนแย้งว่าเดี๋ยวนี้เค้าปั๊ดตะนาแร๊ว (พัฒนาแล้ว) ดูเทพ ISO อย่าง D3s สิ  ISO ตั้ง 2 หมื่นกว่ายังเหมือนแค่ 400 ของกล้องของเราๆ เลย งามงดหมดจดจริงจริ๊ง แต่นั่นมันราคาแสนแปดนะคร๊าบบบบ ถ้ามันทำได้ไม่สมราคาที่คาดหวังไว้แล้วแมวที่ไหนมันจะไปซื้อล่ะคุ๊ณณณณ เอาน่า..ล้อเล่นกันขำๆ นะ อย่าโกรธล่ะ แต่อย่างไรก็ตามทางเทคนิคแล้วมันก็จะต้องเป็นไปตามที่ว่านั่นแหละ ไม่มีใครหนีพ้นเหมือนกฎแห่งกรรมนั้นแล อยู่ที่ใครจะพัฒนาให้ได้ล้ำหน้ากว่ากันแค่นั้น แต่ในอนาคตอาจจะปลดล็อดปัญหาเหล่านี้ไปหมดก็ได้ อะไรที่ไม่น่าจะมียังเกิดขึ้นได้ในช่วงชีวิตนี้แล้วเลยตั้งมากมายเนอะ จริงม๊ะ

เดี๋ยวผมเอารูปที่ถ่ายลองทดสอบดูเล่นๆ ว่าไอ้เจ้า Noise ที่ว่าเนี่ยะจะมีประมาณไหน อยู่ในขั้นที่ยอมรับได้หรือไม่ หรือสำหรับช่วงเวลาสำคัญที่ไม่อาจหาได้อีกแล้ว สู้ยอมให้มีน๊อยซ์ ยังดีกว่าไม่มีรูป

ISO 100


ISO 200 / ISO 400

 
ISO 800 / ISO 1600

 
ISO 3200 / ISO 6400

ผมทำลิ้งค์ไว้ให้ด้วย สามารถคลิ๊กที่แต่ละภาพ เพื่อไปดูรูปขนาดใหญ่ จะได้เห็นข้อเปรียบเทียบกันแบบชัดๆ ทั้งน๊อยซ์ ทั้งสีสันที่ดร็อปลงใน ISO สูงๆ ยังมีอีกๆ ลองดูกันนะ

 
ISO 100

 
ISO 200 / ISO 400

 
ISO 800 / ISO 1600

 
ISO 3200 / ISO 6400

เอาล่ะ ว่ากันมาถึงท้ายๆ ของโพสนี้กันแล้ว ก่อนจะกดชัตเตอร์ครั้งต่อไป ลองหยุดคิดสักนิดก่อนดีไหม ว่าสถานการณ์แบบนี้เราควรใช้ ISO ขั้นไหนดี ให้เหมาะกับสภาพแสงที่เป็นอยู่ โดยพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ หรือตามความต้องการและจินตนาการสร้างสรรค์ของคุณ เพื่อที่จะได้ประโยชน์สูงสุด และสร้างความสุขให้กับคุณในฮ็อบบี้ที่คุณรัก

สุดท้ายนี้ ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ผมเก็บรวบรวมเนื้อหามาเรียบเรียงให้อ่านกันสนุกๆ สบายๆ แบบไม่ซีเรียส เข้าใจกันง่ายๆ ไม่เป็นวิชาการมากเกินไป หวังว่าคงเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

ขอขอบคุณ Google, วิกีพีเดีย, myfirstbrain.com, ISO.org, KODAK, Wordpress.com, Acer และเจ้าหุ่น Moon Walker ของน้องเอแคลร์ที่มาช่วยเป็นแบบให้ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาจนถึงบรรทัดนี้ ขอบคุณอินเตอร์เน็ตที่ทำให้โลกนี้แคบลง

จบแล้วจ้า .. สวัสดีครับ

 

เขียนเมื่อ : วันพุธที่ 22 มิถุนายน พ.ศ.2554 เวลา 17:20 น. GMT+7 THAILAND
ผู้เขียน : Tombass