วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2555

2012-12-07 - Restoration & Hand Color : ภาพถ่ายเก่า .. เราซ่อมได้ ..


งานนี้อาจารย์สุขเกษมบรรยายไปเมื่อ 2012-12-07 พร้อมๆ กับ Clipping Path นั่นแหละครับ แล้วอาจารย์มาเพิ่มเติมให้ในแล็ปของสัปดาห์นี้ให้ด้วย ผมเลยสรุปเอาจากทั้ง 2 ครั้งแล้วเอามารวมกันไว้ในเอนทรี่นี้ เผื่อใครไม่ได้เข้าเรียนก็จะได้ใช้เป็นแนวทางให้ลองฝึกปฏิบัติตามอย่างเป็นขั้นเป็นตอนได้ครับ
จากเฟซบุ๊คในกลุ่ม MJR3202 ที่พวกเราใช้ติดต่อปรึกษากับอาจารย์ผู้สอนใครยังไม่ได้เข้ากลุ่มก็ให้เพื่อนๆ add ให้โดยด่วนนะครับ เพราะในกลุ่มอาจารย์จะมีการสรุปเนื้อหาที่บรรยายและสั่งงานนักศึกษาด้วย ติดตามกันได้ครับ
เอาล่ะมาเข้าเนื้อหาของเรากันครับ
ผมขอสรุปลำดับขั้นตอนการปฏิบัติกันก่อนนะครับ .. จากในกลุ่ม MJR3202 อาจารย์ท่านได้สรุปคำบรรยายเอาไว้ให้ดังนี้ครับ
  1. Restoration การแก้ไขภาพถ่ายเก่า และ ระบายสี Hand Color
  2. เครื่องมือที่ใช้ Clone Stamp, Patch, Spot healing Brush, Healing Brush
  3. และระบายสีภาพถ่ายเก่า Hand Color ด้วย Color blend Mode
มาเริ่มลงมือฝึกไปพร้อมๆ กันเลยครับ ..
  1. เปิดภาพเก่าที่เราต้องการนำมาแก้ไขครับ (ใครไม่มีไปโหลดได้ ที่นี่ ครับ)

    เปิดภาพเก่าของเราขึ้นมา .. เดี๋ยวเราจะแก้ไขภาพนี้กันครับ ..
  2. การซ่อมแซมภาพที่มีร่องรอยความเสียหาย เราจะใช้เครื่องมือในลิ้นชักที่ 2 ใน Tool Box ซึ่งก็คือกลุ่มของ Edit & Retouch

    ใช้เครื่องมือในกลุ่ม Edit & Retouch อยู่มรลิ้นชักที่ 2 ของ Tool Box
    ส่วนเครื่องมือที่เราจะใช้ในคราวนี้ก็คือ
    • Spot Healing Brush Tool
    • Healing Brush Tool
    • Patch Tool
    1. เครื่องมือตัวแรกที่เราจะใช้ก็คือ Patch Tool ครับ หลักการทำงานของเครื่องมือนี้เหมือนการปะชุนผ้าของช่างซ่อมเสื้อผ้าครับ แล้วมันหมายความอย่างไรน่ะหรือ? ก็คือจะใช้การเลือกเอาพื้นที่ส่วนที่ยังดีอยู่มาปะลงไปแทนที่ส่วนที่เสียหายของภาพนั่นเอง

      การใช้งานก็เริ่มจากการที่เราต้องสร้าง Selection เพื่อเลือกส่วนที่ต้องการแก้ไขซะก่อน โดยการเอาเมาส์คลิ๊กค้างแล้วลากให้รอบพื้นที่ที่เราต้องการจะเกิดเป็นเส้นประล้อมรอบส่วนที่เราเลือก จากนั้นก็เอาเมาส์คลิ๊กค้างในพื้นที่ที่เราเลือกแล้วลากออกไปด้านข้าง สังเกตนิดนึงเวลาเราลากไปนั้นพยายามเลือกให้ภาพที่มาแทนเป็นแนวเดียวกับพื้นที่รอบข้าง (เข้าใจไม๊ครับ? .. คือแบบว่าไม่รู้จะเขียนอธิบายยังไงดี แต่ถ้าลองลงมือทำให้จะเห็นภาพและเข้าใจได้เองแน่นอน ผมรับรอง .. ไม่ยากเลยและก็สะดวกสบายมาก) เหมาะกับเพื้นที่ที่แทบทุกรูปแบบ เพราะเราเอาพื้นที่ข้างๆ มาทดแทนส่วนที่เสียเลยจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องของสีที่แตกต่างกัน
    2. มาดูที่เครื่องมือต่อไป Spot Healing Tool จะเป็นการคำนวณโดยเอาพื้นที่จะ pixel รอบๆ ที่อยู่ใกล้เคียงมา blend เข้าหากัน

      การใช้งานเครื่องมือนี้ง่ายดายมาก แค่ปรับขนาดให้ brush ให้ได้ขนาดตามต้องการ (จำได้ไม๊ครับ .. ว่าใช้ปุ่ม Shortcut ใดบนคีย์บอร์ดเอ่ย? .. คำตอบคือปุ่ม [ และ ] ยังไงครับ ..) แล้วก็เอามาคลิ๊กลงไปที่ส่วนที่เราต้องการแก้ไข จะคลิ๊กแล้วปล่อยหรือคลิ๊กแล้วลากไปมาก็ได้ครับ ทดลองทำกันดูเลยครับ ..
    3. แล้วก็มาถึงเครื่องมือตัวสุดท้ายที่เราจะใช้งานสำหรับกลุ่มนี้ก็คือ Healing Brush Tool

      การทำงานก็จะคล้ายๆ กับ Spot Healing Brush Tool เพียงแต่เจ้าเครื่องมือตัวนี้จะไม่ช่วยคำนวณหาพื้นที่ๆ ข้างให้เรา เราต้องกำหนดจุดที่เราต้องการนำมาใช้ด้วยตัวเอง มาลองดูวิธีการใช้งานกันครับ เริ่มต้นเราต้องปรับขนาดหัว Brush กับให้ได้ขนาดตามที่ต้องการซะก่อน แล้วก็กดปุ่ม Alt บนคีย์บอร์ดของคุณค้างเอาไว้ สัญลักษณ์ของเม้าส์จะเปลี่ยนเป็นเหมือนเป้ายิงธนูครับ แล้วเราก็คลิ๊กเลือกพื้นที่ (เอาตรงที่ดีๆ นะ ไม่ใช่เอาตรงที่เสียๆ มาล่ะ .. -.-' ) มันก็จะจำเอาพื้นที่นั้นไว้เพื่อเอามาเป็นจุดอ้างอิง (เป็นการล็อคเป้า เพื่อเป็นจุดอ้างอิงครับ .. ไม่ใช่การ Copy นะครับ)
      แล้วเราก็เอามาเม้าส์มาคลิ๊กตรงที่ต้องการแก้ไข โปรแกรมจะนำเอาจุดอ้างอิงนั้นมาทดแทนให้ หากเราเลื่อนไปในทิศทางต่างๆ ก็จะเป็นการนำพื้นที่ในทิศทางที่เราเลือกโดยอ้างอิงจากจุดที่เราได้ล็อคเป้าเอาไว้มาใช้งาน (งงป่ะ? คือมันไม่ได้ Copy จุดที่เราเลือกเท่านั้น แต่เป็นการอ้างอิงถึงจุดที่เราเลือกและพื้นที่รอบๆ นั้นด้วย .. ลองทำดูดีกว่าครับ เพราะจะให้อธิบายเป็นตัวหนังสือคงยากมากที่จะให้เข้าใจได้ง่ายๆ ผมถึงได้บอกอยู่เสมอๆ ว่า ให้ลงมือทำไปพร้อมๆ กันเลย อย่าอ่านแต่เพียงอย่างเดียว .. ~.~ ..

      ส่วนเครื่องมือ Clone Stamp จะใช้งานคล้ายๆ กับ Healing Brush ครับ มีการล็อคเป้าด้วยวิธีเดียวกัน แต่ที่ต่างกันก็คือจะเป็นการ Copy เอาแต่จุดนั้นๆ มาใช้ครับ เหมือนการใช้ตรายางปั๊มลงไปครับ ทดลองทำดูจะเข้าใจได้ง่ายขึ้นครับ ลองอ่านเพิ่มเติมที่ Healing Brush Tool ด้านบนเพื่อเปรียบเทียบกันดูนะครับ ขออนุญาตไม่ Capture รูปนะครับเพราะการใช้งานใกล้เคียงกัน ตัวเครื่องมือก็อยู่ด้านล่างของ Healing ใน Tool Box ครับ

      เอาล่ะก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป ผมคิดว่าเพื่อนๆ คงลงมือทำกันกันจนเข้าใจแล้วนะครับ ฝึกบ่อยๆ ก็จะคล่องมือไปเองครับ (ผมก็กำลังฝึกอยู่เช่นกันครับ)
  3. ขั้นต่อไปก็จะเป็นการเพิ่มสีสันให้กับภาพขาว-ดำของเรา เพราะ Our world need the colorful .. มาลองกันเล๊ยยยยย ..
  4. ก่อนอื่นต้องตรวจสอบดูก่อนว่า Layer ที่เราทำงานอยู่นั้น อยู่ในโหมดไหน? ให้เราเปลี่ยนให้เป็นแบบ RGB ซะก่อน ไม่อย่างนั้นเครื่องมือที่เกี่ยวกับ Color จะไม่ทำงาน

    เปลี่ยนโหมดของ Layer ที่เราจะทำงานให้เป็น RGB กันซะก่อน
  5. สร้าง Layer ใหม่ขึ้นมา เดี๋ยวเราจะระบายสีกันใน Layer นี้แหละ

    สร้าง Layer ใหม่ขึ้นมาเพื่อจะได้เอาสีที่เราชอบระบายลงไป ..
  6. จากนั้นก็เลือกเครื่องมือพู่กัน (Brush) เพื่อที่เราจะได้เอามาระบายสีรูปถ่ายของเรา การเลือกสีก็ให้คลิ๊กที่สี่เหลี่ยมสีดำ-ขาวซ้อนกันที่อยู่ด้านล่างของ Tool Box แล้วเลือกสีที่เราโปรดปรานกันได้เลย

    เลือกสี Foreground ได้จาก สี่เหลี่ยมเล็กๆ ซ้อนกันที่ด้านล่างของ Tool Box ปรับแต่งเลือกสีได้ตามต้องการ แล้วตอบ OK
  7. เอาพู่กัน (Brush) ระบายสีให้เต็มพื้นที่ที่เราต้องการให้ทั่ว เมื่อพอใจแล้วก็ไปที่ Palette > Layer ที่ปกติแสดงอยู่ด้านขวามือของหน้าจอ แล้วก็ไปที่ Color Blend เลือกโหมดเป็น Color จะเป็นการ Blend สีของทั้งสอง Layer เข้าหากัน หากตรงไหนที่ระบายเกินพื้นที่ที่ต้องออกมา ก็ให้ไปที่ Tool Box แล้วเลือกที่เครื่องมือยางลบ (Eraser) ค่อยๆ ลบส่วนที่เกินออกไป ถ้าหากว่ามองไม่เห็นก็ให้ Zoom เข้าไปใกล้ๆ (โดยใชปุ่ม Ctrl + เครื่องหมาย -,+ เพื่อย่อ-ขยาย) จะเห็นได้ชัดๆ

    เลือกเอาพูกัน (Brush) จาก Tool Box ปรับขนาดหัวแปรงให้ได้ตามต้องการ จากนั้นระบายไปบนพื้นที่ที่เราต้องการให้ทั่ว แล้วก็เลือก Color Blend Mode ที่ Palette > Layer ให้เป็น Color


    ลองขยายดูนะครับ ว่ามีสีที่เราระบายเลอะออกมานอกพื้นที่ที่ต้องการหรือเปล่า? ถ้ามีก็เลือกใช้เครื่องมือยางลบ (Eraser) จาก Tool Box เอามาลบส่วนที่เกินนั้นออกไปซะให้เรียบร้อย
  8. แล้วถ้าต้องการเพิ่มสีในตำแหน่งอื่นๆ ก็ทำตามขั้นตอนด้านบนซ้ำไปเรื่อยๆ (แนะนำให้เพิ่ม Layer ที่ทำงานกับแต่ละสีไปเรื่อยๆ เพื่อความสะดวกในการควบคุม หรือจะทำใน Layer เดียวกันก็ได้ ไม่มีใครว่า ..)

    จะเพิ่มสีไหนอีก ก็อย่าลืมเพิ่ม Layer ใหม่ด้วยนะครับ เพื่อความสะดวกเวลาปรับแต่งต่อไป
  9. การแยก Layer สำหรับแต่ละสีจะทำให้เราควบคุม Opacity ของแต่ละ Layer ได้ง่าย ทำให้ปรับแต่งได้สะดวกมากยิ่งขึ้น แล้ว Opacity มันคืออะไร เอาไว้ใช้ทำอะไรให้ภาพถ่ายของเราเหรอ?

    สังเกตดูที่หน้าของคนในภาพตัวอย่างนะครับ .. ภาพเล็กที่ตั้งค่า Opacity เอาไว้ 100% หน้าจะแดงกว่าภาพใหญ่ที่ตั้งค่า Opacity ไว้ที่ 75% เท่านั้น หน้าคนในภาพใหญ่ก็เลยดูจะเป็นธรรมชาติมากกว่า เพราะหน้าของคนคงไม่แดงขนาดนั้น (เอ๊ะ .. หรือเค้าจะเป็นไข้ไม่สบายหรือเปล่า?)

    คำตอบคือ Opacity แปลว่าความทึบแสง เราสามารถปรับความทึบแสงให้กับแต่ละ Layer ได้ เป็นการทำให้สีที่เราระบายลงไปนั้นมีความเข้มของสีมาก-น้อยตามค่า Opacity ที่เราปรับด้วย เอาไว้ใช้เมื่อเราต้องการให้สีบางสีมีความเข้มลดลงเพื่อความเป็นธรรมชาติ เช่นหน้าคนให้เป็นสีชมพูไม่ใช้สีแดงที่เราระบายลงไปอย่างนั้น เราก็ลดค่า Opacity ลงนิดหน่อยก็จะดูเป็นธรรมชาติมากขึ้นแล้ว ลองใช้งานกันดูนะครับ
  10. เมื่อเราทำครบทุกสีตามที่ชอบก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วครับ จะมากจะน้อยก็ตามแต่จินตนาการของแต่ละบุคคลครับ
  11. มาเปรียบเทียบกันซักหน่อยนะ ระหว่าง BEFORE vs AFTER จะเห็นความแตกต่าง ภาพเก่าของเราจะดูดีมีสีสันสวยงามขึ้นมาอย่างง่ายดาย สามารถพลิกฟื้นคืนสีสันสดสวยมีชีวิตชีวาให้กับภาพความหลังเก่าๆ ของเราได้เป็นอย่างดี ง่ายๆ แบบนี้ใครๆ ก็สามารถทำได้ไม่ยากเย็นจริงไม๊ครับ ..

    เปรียบเทียบกันดูระหว่าง ก่อนและหลังการแก้ไข (ดูหน้าตาสดใสมีสีสันขึ้นมาเชียวนะนั่น .. 555+)
สุดท้ายนี้ ผมต้องขอขอบคุณท่านอาจารย์สุขเกษมเป็นอย่างสูงที่ให้ความกรุณาช่วยทบทวนให้อีกครั้งในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้เอนทรี่นี้สำเร็จเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ กันบ้างนะครับ
งานปฏิบัติต้องลงมือทำครับ จะเข้าใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันจนจบครับ

เขียนเมื่อ : วันอาทิตย์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2555 เวลา 15:40 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน : จิตตพล ทรงสว่าง (Tombass)

วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2555

20121207 - เรื่องของ “Clipping Path” .. ไม่ง่าย .. แต่ก็ไม่ยากนะ ..


งานตัวอย่างจากอาจารย์ครับ ..
การบ้านวิชา MJR3202 เป็นภาพใช้ฝึกทำ Clipping Path โดยโปรแกรม Photoshop สรุปจาก http://www.facebook.com/groups/jr3o2/

การทำ Clipping Path

ภาพรวมและแนวปฏิบัติของขั้นตอนการทำ Clipping Path ..
  1. สร้าง selection (ด้วยการใช้ Quick mask mode / Quick selection)
  2. Save selection / Load selection,
  3. Refine Edge > Path > Clipping Path.
  4. อาจารย์สุขเกษมท่านมาช่วยขยายความเพิ่มเติมดังนี้ครับ ..
  • สร้าง selection เสร็จแล้ว ตั้งชื่อ เซฟไว้
  • ไปที่ Path > make work path from selection > save path > clipping path ใส่ flateness สัก 2 pixel แล้ว save file ไว้
  • การปรับสีสัน เลือก layer ภาพทีต้องการปรับ แล้วใช้เครื่องมือต่าง ๆ ปรับแต่ง
เอาล่ะ .. เราลองมาทำตามที่อาจารย์สุขเกษมสอนในแล็ปกันเลยนะครับ ..
ขอชี้แจงเพื่อความเข้าใจร่วมกันไว้ตรงนี้สักนิดนึงก่อนนะครับ ทุกเอนทรี่ในหมวดหมู่นี้ คุณสามารถจะคลิ๊กที่แต่ละภาพ เพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้นะครับ เผื่อว่ามองรายละเอียดไม่เห็น ในบล็อคนี้ผมจะตั้งค่าไว้ให้จำกัดขนาดด้านกว้างของภาพสูงสุดที่ 600 px เท่านั้นครับ เกินกว่านี้จะทำให้การแสดงผลผิดพลาดไป ก็เลยขออนุญาติไม่แก้ไข stylesheet ตรงส่วนนี้นะครับเพราะจะกระทบกับส่วนอื่นๆ ของบล็อคและเอนทรี่เก่าๆ ที่เขียนไว้ทั้งหมดอีกด้วย ต้องขออภัยในความไม่สะดวกไว้ ณ ที่นี้ด้วยจริงๆ
กลับมาที่เรื่องของเรากันดีกว่าครับ ..
  1. เปิดภาพที่ใช้ฝึกปฏิบัติกันก่อนครับ (ใครยังไม่มี .. ก็ไปโหลดกันได้จาก ลิ้งค์นี้ เลย)

  2. เสร็จแล้วให้ทำการ Duplicate Layer ขึ้นมาเพื่อที่การทำงานของเราจะได้ไม่ไปเกิดผลกระทบกับภาพต้นฉบับ แล้วก็ปิดตา Layer ต้นฉบับเอาไว้ครับ

    จะใช้วิธี คลิ๊กขวาที่ Layer ต้นฉบับแล้วเลือกคำสั่ง Duplicate Layer หรือจะคลิ๊กค้างที่ Layer ต้นฉบับแล้วลากไปที่ไอคอน New Layer ด้านล่างของ Palette หรือวิธีอื่นใดก็ได้ตามแต่ความถนัดของแต่ละคนเลยครับ
  3. เลือกใช้เครื่องมือ Quick Selection Tool จาก Tool Box

  4. คลิ๊กเลือกพื้นที่ที่เราต้องการในชิ้นงาน โปรแกรมจะเลือกพื้นที่ให้โดยอัตโนมัติ เราสามารถปรับแต่งขนาดของหัว Brush ได้ตามต้องการโดยใช้ปุ่ม [ และ ] บนคีย์บอร์ด ให้คลิ๊กเลือกไปก่อนเพราะเดี๋ยวเราต้องมาปรับแต่งโดยละเอียดกันอีกทีในขั้นตอนต่อไป

  5. กดปุ่ม Quick Mask Mode ด้านล่างของ Tool Box ในชิ้นงานส่วนที่เราไม่ได้เลือกจะเป็นสีแดงๆ แบบโปร่งใส

    ปุ่ม Quick Mask Mode อยู่ที่ด้านล่างของ Tool Box / พื้นที่ที่ไม่ได้ถูกเลือกจะเป็นสีแดงแบบโปร่งใส นั่นก็หมายความว่าเรากำลังทำงานอยู่บน Mask นะครับ เพราะฉะนั้น Foreground จะเป็นส่วนที่เราไม่ได้เลือก ส่วน Background ก็จะเป็นส่วนที่เราเลือกนะครับ ส่วนชิ้นงานจริงจะอยู่ด้านล่างของ Mask อีกที (งงไม๊ครับ .. ค่อยๆ ลำดับเป็นขั้นเป็นตอนไปนะครับ จะได้ไม่งงเหมือนผม เพราะผมล่ะงงจริงๆ เล๊ยเรื่องเนี๊ยะ .. 555+)
  6. แล้วเราก็ไปเลือกเครื่องมือ Brush (B) ใน Tool Box แล้วสังเกตด้านล่างของ Tool Box ก็จะเห็นรูปสี่เหลี่ยมเล็กๆ สีดำ-ขาวซ้อนกันอยู่ เราใช้ในการเปลี่ยน Foreground / Background โดยใช้ปุ่ม X บนคีย์บอร์ดเพื่อสลับไปมาได้ แต่เราจะสลับไปเพื่ออะไรน่ะหรือ? คำตอบก็คือ .. เพื่อที่จะเพิ่มหรือลบพื้นที่ที่เราต้องการใน Quick Mask Mode ไงล่ะครับ ทดลองใช้ดูนะครับ จะเข้าใจและเห็นภาพได้ชัดเจนกว่ามานั่งอ่านเฉยๆ ครับ

    กดปุ่ม X บนคีย์บอร์ดของคุณเพื่อสลับระหว่าง Foreground / Background
  7. หากว่าเรามองสีแดงโปร่งแสงของ Quick Mask Mode ไม่ชัดเจน ก็ให้ไปที่ Pallette > Channel แล้วก็มองหาที่รูปลูกตา (Indicate Channel Visibility) ให้เราคลิ๊กเพื่อปิดตา Channel -> RGB เสียก่อน แล้วให้เปิดตา Channel -> Quick Mask เอาไว้ เราจะเห็นชิ้นงานเป็นสีขาวกับดำ ทำให้มองเห็นพื้นที่ที่ต้องการได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

    ไปที่ Palette > Channels จะสามารถปิดตา  Channel -> RGB ได้นะครับ เปิดตาเฉพาะ Channel -> Quick Mask ก็จะเห็นชัดเจนขึ้นนะครับ ลองดูครับ ให้ความสะดวกในการจัดการพื้นที่ที่เราต้องการได้ง่ายขึ้นเยอะเลย (เปิดตา Channel -> RGB เพื่อตรวจสอบเรื่อยๆ นะครับ จะได้ไม่ขาดๆ เกินๆ)
  8. เมื่อเราเลือกพื้นที่ในชิ้นงานตามขั้นตอนข้างต้นจนพอใจแล้ว ที่ด้านล่างของ Tool Box ให้คลิ๊กที่ Quick Mask Mode อีกครั้ง ในชิ้นงานจะกลายเป็น Selection (เป็นเส้นประล้อมรอบพื้นที่ที่เราเลือกไว้) อาจจะใช้การ Inverse Selection (Ctrl + Shift + I กดปุ่ม Ctrl พร้อมกับ Shift และปุ่ม I (ไอ) บนคีย์บอร์ด) เพื่อสลับไปเลือกส่วนที่ตรงกันข้าม จากนั้นให้ Save Selection เอาไว้ ด้วยคำสั่ง Select > Save Selection แล้วตั้งชื่อตามที่ชอบเก็บเอาไว้



    สามารถ Inverse Selection ได้นะครับ เพื่อสลับไปเลือกส่วนที่ตรงกันข้ามอย่างง่ายดาย แล้วก็อย่าลืม Save Selection เก็บเอาไว้นะครับ
  9. ไปคลิ๊กที่ Palette > Path แล้วคลิ๊กที่ Palette Menu ตรงมุมบนขวามือของ Palette แล้วเลือก Make Work Path แล้วกดปุ่ม OK จะได้ Work Path ขึ้นมาใน Palette Path ให้เรา คลิ๊กที่ Palette Menu อีกครั้งแล้วเลือก Save Path แล้วตั้งชื่อตามต้องการ Work Path ใน Palette จะเปลี่ยนไปเป็นชื่อที่เราตั้งไว้



    คลิ๊กที่ Palette > Paths เลือกคำสั่ง Make Work Path จาก Palette Menu ที่อยู่มุมบนขวาของ Palette แล้วไม่ต้องคิดมาก ตอบ OK ไปเล๊ยยยย


    ที่ Palette Menu เลือกคำสั่ง Save Path ..


    แล้วก็ Save Path ซะให้เรียบร้อย
  10. คลิ๊กที่ Palette Menu ที่มุมบนขวาของ Palette อีกครั้ง แล้วเลือก Clipping Path ใส่ค่า Flateness = 2 แล้วกดปุ่ม OK

    ชื่อ Path จะเปลี่ยนไปเป็นชื่อที่เราตั้งไว้เมื่อสักครู่นี้แล้วนะครับ คลิ๊กที่ Palette Menu อีกที เลือกคำสั่ง Clipping Path ครับ


    ลองใส่ค่า Flateness ซัก 2 Pixel ตามที่อาจารย์บอกดูนะครับ
  11. Save File เอาไว้

    Save file เก็บไว้ได้เลย .. เราได้ Clipping Path เอาไว้ใช้แล้วครับ ..
  12. หลังจากนี้เราก็จะมี Path ที่เรา Save เอาไว้ ซึ่งจะเรียกมาใช้เป็น Selection เมื่อไหร่ก็ได้ตามแต่ใจปรารถนาแล้วครับ

 

การใช้งาน Clipping Path

จากตรงนี้ เดี๋ยวเราลองนำ Clipping Path ที่เราทำไว้มาใช้งานดูนะครับ
  1. เปิดไฟล์งานที่เราทำ Clipping Path ไว้แล้ว ขึ้นมาที่หน้างานของเราครับ
     
  2. ที่ Palette > Path คลิ๊กที่ Path ที่เราทำไว้ แล้วที่ด้านล่างของ Palette ให้กดที่ปุ่ม Load path as a selection จะทำให้ Path ของเรากลายเป็น Selection (เป็นเส้นประ)

    เอา Path ที่เราสร้างและบันทึกเก็บไว้มาใช้เป็น Selection


    Selection ที่ได้จะแสดงเป็นเส้นประรอบพื้นที่ที่เรา Load มาจาก Path นะครับ
  3. ใช้ Ctrl + Shift + I เพื่อ Inverse Selection แล้วก็กดปุ่ม Delete บนคีย์บอร์ด เพื่อลบพื้นที่ส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไป

    สลับการเลือกโดยการใช้ Inverse Selection (Ctrl + Shift + I) แล้วกดปุ่ม Delete บนคีย์บอร์ดเพื่อลบส่วนที่ไม่ต้องการทิ้งไปซะ ส่วนนั้นก็จะกลายเป็น Transperent แล้วครับ (ถ้า Delete แล้วมันไม่ยอมหายไป อาจจะเกิดจากคุณไม่ได้ปิดตา Layer -> Background ที่ถูกล็อคกุญแจไว้ ดูที่ Palette > Layer แล้วมองหาว่าคุณได้ปิดตามันหรือยัง? ถ้ายังก็คลิ๊กที่ลูกตาข้างหน้า Layer นั้นเพื่อปิดตามันซะก็สิ้นเรื่อง .. 555+)
  4. เปิดภาพใหม่ที่ต้องการจะนำมารวมในชิ้นงานของเรา เลือกทั้งหมด (Ctrl + A) หรือจะเลือกเท่าที่ต้องการโดยใช้เครื่องมือ Selection ใน Tool Box ก็ได้ แล้ว Copy (Ctrl + C) ไว้ใน Clipboard

    ผมเลือกทั้งหมดครับ (Ctrl + A) แล้ว Copy (Ctrl + C) เลยครับ .. ง่ายดี .. 555+
  5. แล้วกลับมาที่หน้างานของเรา ให้ Paste (Ctrl + V) ลงในหน้างาน โปรแกรมจะสร้าง Layer ใหม่ขึ้นมาเพื่อรองรับภาพจาก Clipboard ที่เรานำมา Paste เข้าไปให้โดยอัตโนมัติ อย่าได้ตกใจว่า เฮ้ยยยย .. Selection ที่ตรูทำไว้เมื่อกี๊มันหายไปไหนว๊ะ?!?!?!? มันไม่ได้หายไปไหนหรอกครับ เพียงแต่มันถูก Layer ใหม่ที่อยู่ด้านบนบังเอาไว้ ทำให้เรามองไม่เห็นนั่นเอง เพียงแค่เราคลิ๊กที่ Layer ค้างไว้ แล้วลากให้มันมาอยู่ด้านบน ก็จะมองเห็นได้เหมือนเดิมแล้วครับ ..

    สังเกตดูที่ Palette > Layer นะครับ เมื่อ Paste ลงมาในชิ้นงานจะมี Layer ใหม่ที่แสดงผลของภาพที่เรา Copy มา อยู่ด้านบนของ Layer เดิมของเรา ให้คลิ๊กค้างไว้ที่ Layer เดิมของเราแล้วลากขึ้นมาอยู่ข้างบนซะก็เรียบร้อย ..
  6. คราวนี้เราก็มาทำให้ภาพใน Layer ใหม่มันเบลอๆ หน่อย จะได้ไม่มาแย่งความสนใจจากเรือของเรา โดยการเลือกที่ Layer แล้วไปที่คำสั่ง Filter > Blur > Motion Blur แล้วใส่ค่า parameter ต่างๆ ตามความเหมาะสม อย่าลืม Check Box ที่ Preview เอาไว้ด้วยนะครับ จะได้เห็นผลการปรับแต่งได้อย่างทันใจ เมื่อได้ผลตามที่ต้องการแล้วก็กดปุ่ม OK

    เลือกที่ Layer ใหม่ของเราแล้วใส่ Filter > Blur > Motion Blur


    ปรับแต่งค่า Parameter ของ Filter ตัวนี้ตามต้องการ อย่าลืม Check Box ที่ Preview ด้วยนะครับ
  7. ในการปรับแต่งแสงสีของตัวเรือ ก็ให้คลิ๊กเลือก Layer นั้นแล้วใช้เครื่องมือต่างๆ ใน Image > Adjustments แล้วเลือกปรับแต่งตามต้องการ จากตัวอย่างนี้ผมใช้แค่ Equalize เท่านั้นเองครับ

    คลิ๊กเลือก Layer ที่ต้องการปรับแต่งแสงสี แล้วก็จัดการซะ ..
  8. เท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยแล้วครับ

    การบ้านของเราก็เป็นอันเสร็จเรียบร้อยแล้วคร๊าบบบบ ..

หากมีข้อผิดพลาดตรงไหน ก็ช่วยแนะนำติติงเพื่อที่ผมจะได้นำมาแก้ไขให้ถูกต้องต่อไป อยากให้ทดลองทำกันดูนะครับ เพื่อจะได้เกิดความชำนาญและเข้าใจในลำดับและจุดมุ่งหมายของแต่ละขั้นตอน มีประโยชน์มากมายจริงๆ ครับ สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย ฝึกฝนใช้งานให้คล่องแคล่วจะช่วยเพิ่มทักษะของตัวเราเองได้ต่อไปในอนาคตครับ
ขอขอบคุณ อาจารย์สุขเกษม ที่ให้คำแนะนำและตอบข้อสงสัยอย่างละเอียด ผมจึงขอนำความรู้จากอาจารย์มาแบ่งปันให้เพื่อนๆ ได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กันนะครับ


เขียนเมื่อ : วันพุธที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2555 เวลา 18:42 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน : จิตตพล ทรงสว่าง (Tombass)

วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กลับไปอีกครั้ง .. กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ .. ภาคจบ ..

 

| ภาคแรก | ภาคจบ |

ในเอนทรี่ก่อนทิ้งท้ายเอาไว้ว่า จะพาไปชมอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และอาคาร 3 พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องเดินออกจากอาคาร 1 ที่เราเข้าชมไปเมื่อเอนทรี่ก่อนนั้น ผ่านไปทางลานจอดรถแล้วเข้าสู่อาคาร 2 โดยที่พื้นที่รอบๆ ก่อนเข้าสู่ตัวอาคารก็จะมีเหล่าบรรดาสัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ยักษ์ที่ใช้ชีวิตครองโลกอยู่เมื่อ 65 ล้านปีล่วงมาแล้ว นำทีมโดยพระเอกรูปหล่อมาดเท่ห์ยอดฮิตของไทยเราอย่างสยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส หรือว่าจะเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ใจดีอย่างภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน หรือแม้แต่เจ้าตัวเล็กสุดแสบอย่างเวโลซิแร็พเตอร์ มาจนถึงยุคต่อมาอย่างเสือเขี้ยวดาบ  และเมื่อยุคของไดโนเสาร์จากไป โลกก็ผ่านช่วงเวลาเข้ามาสู่ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้วิวัฒนาการขึ้นมาครองโลกทดแทนกัน จนวิวัฒนาการล่าสุดมีมนุษย์ถ้ำในยุคต่างๆ ก่อนจะมาถึงจุดสุดท้ายกลายเป็นโฮโมเซเปี้ยน เซเปี้ยนในปัจจุบันนี้


สยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส อยู่ในตอนต้นของยุดครีเตเชียส ขุดค้นพบในประเทศไทยของเราเองที่จังหวัดขอนแก่นครับ

จากตรงนี้ก็เข้าสู่ตัวอาคารที่มีการจัดแสดงโดยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ตั้งแต่เริ่มกำเนิดของโลก จนเริ่มมีน้ำมีต้นไม้และเกิดสัตว์ในทะเล จนคืบคลานขึ้นมาสู่พื้นดินกลายเป็นไดโนเสาร์ และเข้าสู่วิกฤติมหันตภัยที่จบชิวิตของไดโนเสาร์ทุกตัวให้ล้มตายหายไปพร้อมๆ กันจนหมดทั้งโลก แล้วโลกต้องเข้าสู่ช่วงของการเริ่มซ่อมสร้างตัวเองจนเกิดชีวิตใหม่ที่ขึ้นมาทดแทน หากว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อนไม่เกิดมหันตภัยครั้งนั้น และเหล่าสัตว์เลื้อยคลานอย่างไดโนเสาร์ยังเดินเพ่นพ่านครองโลกใบนี้อยู่ กลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) อาจไม่มีโอกาสได้วิวัฒนาการมาจนเป็นอย่างทุกวันนี้ รวมถึงมนุษย์ก็อาจจะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ




ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์คอยาว (ซอโรพอด)ขนาดกลางแห่งยุคครีเตเชียส เป็นชนิดแรกที่พบในประเทศไทย

เส้นแบ่งแห่งวิวัฒนาการเมื่อ 65 ล้านปีก่อนนั้น ช่วยแบ่งแยกยุคของเรากับยุคดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออกจากกันและยังทำให้พวกเรามีตัวตนขึ้นได้จนถึงทุกวันนี้อีกด้วย ส่วนของด้านในอาคารนั้น การจัดให้เราเดินไปตามเส้นทางที่เป็นไปตามลำดับผ่านยุคสมัยต่างๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจและมองเห็นภาพของวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดต่างๆ เพื่อคอยให้ข้อมูลความรู้กับเด็กๆ และผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี

จากบรรทัดนี้ให้ภาพถ่ายและคำบรรยายช่วยเล่าเรื่องต่อเลยแล้วกันนะครับ

 
เข้าประตูมาก็ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานก่อนจะเข้าไปผ้านอุโมงค์กาลเวลา .. / เข้ามาชมวิดีทัศน์จำลองปรากฎการณ์การกำเนิดของโลกสีฟ้าใบนี้ครับ ตั้งแต่การก่อเกิดดวงอาทิตย์จนมาเป็นระบบสุริยะและดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบ

 
เดินเข้ามาก็เจอกับแผนภูมิขนาดใหญ่เต็มผนัง แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของชีวิต เป็นการศึกษาถึงเรื่องของอะตอมและโมเลกุลต่างๆ ที่รวมตัวกันก่อให้เกิดเป็นชีวิตเล็กๆ แล้วค่อยๆ วิวัฒนาการทีละเล็กทีละน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานับหลายๆ ล้านปีจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นอย่างเฉกเช่นในปัจจุบัน / เข้าสู่อุโมงค์แห่งกาลเวลาเพื่อย้อนไปดูวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัย

เอาล่ะไหนๆ เราก็พูดถึงเรื่องนี้กันแล้ว ผมก็จะลองเรียบเรียงลำดับของยุคต่างในแต่ละช่วงของวิวัฒนาการไว้ในเอนทรี่นี้เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจซักหน่อยก็แล้วกัน ทราบไว้เป็นความรู้รอบตัวเอาไว้ไปเล่าให้ลูกๆ หลานๆ ฟังได้นะ  เพราะเด็กๆ แทบจะทุกคนจะชอบและให้ความสนใจกับเรื่องของไดโนเสาร์มากๆ ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน พอเล่าเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ยุคน้ำแข็ง หรือยุคหินเมื่อไหร่ ลูกชายผมเป็นต้องเข้ามานั่งฟังอย่างสนอกสนใจ มีคำถามมาถามได้ไม่หยุดหย่อน แล้วก็ชอบให้เล่าให้ฟังอีกบ่อยๆ ด้วยนะ แม้ว่าจะเล่าเหมือนเดิมก็เถอะ (ก็เค้าได้ศึกษามาแล้วเขียนตำรับตำราออกมาแบบนั้น ไม่ว่าจะเล่าซักกี่ทีมันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ .. แต่ก็ชอบฟังนะนั่น) มาเริ่มต้นกันเลยครับ ..


(ซ้าย) ภาพจาก http://ontario-geofish.blogspot.com/2011/11/massive-permian-co2-spill-exactly-same.html
(ขวา) ภาพจาก http://mail.colonial.net/~hkaiter/paleontology.html

อาจแตกต่างกันนิดหน่อยในช่วงปีของแต่ละยุคนะครับ ต่างสำนักต่างสถาบัน ไม่มีใครถูกทั้งหมดหรอกครับ การพิสูจน์ตัวอย่างฟอสซิลด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี หรือคาร์บอน-14 ซึ่งอาจจะยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เราไม่ใช่นักวิชาการก็เพียงแค่อาศัยดูไว้เป็นแนวทางแล้วก็สังเกตว่าแต่ละยุคมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้นก็พอ หากสนใจในเรื่องนี้คงต้องศึกษาเพิ่มเติมกันอีกเยอะเลยทีเดียวล่ะ


(ซ้าย) ภาพจาก http://www.geol.umd.edu/~tholtz/G102/102meso1.htm 
(ขวา) ยุคเมโสโซอิค ที่จัดแสดงในอาคาร 2

เริ่มต้นจากมหายุคพรีแคมเบรียน (Pre-Cambrian Era : ประมาณ 4,567 - 545 ล้านปีก่อน) ตั้งแต่กำเนิดโลกใบนี้ ที่โลกยังร้อนอยู่ มีแต่หินหลอมละลายเต็มไปหมด มีแต่ก๊าซพิษอยู่ทุกอณูของชั้นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของโลกยังไม่เหมาะสมกับการกำเนิดชิวิต จึงยังไม่มีชีวิตใดๆ จะสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกในสภาพเช่นนั้นได้

จนมาสู่ยุคพาเลโอโซอิค (Paleozoic Era : 545 - 251 ล้านปีก่อน) ที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เกิดจากการรวมตัวกันของโปรตีนในอะตอมต่างๆ มาเกาะเกี่ยวเข้าหากันจนเกิดเป็นชีวิตที่มีรูปแบบง่ายๆ ขึ้นในท้องทะเล ส่วนบนพื้นดินก็มีเหล่าพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์เริ่มเติบโตเผยแผ่กิ่งก้านสาขาจนสูงใหญ่เต็มไปทั่วบริเวณ เริ่มมีสัตวฺเลื้อยคลานกำเนิดขึ้นและแมลงปีกแข็งที่บินได้รวมถึงพืชกลุ่มที่มีสปอร์ ทั้งหมดใช้เวลานานถึงกว่า 294 ล้านปีในการวิวัฒนาการจนเกิดรูปแบบชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น

แล้วก็เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 251 ล้านปีก่อนที่นักวิชาการเรียกว่า Permian-Triassic Extinction
จากก็เริ่มเข้าสู่ยุคเมโสโซอิค (Mesozoic Era : 251 - 65 ล้านปีก่อน) เป็นช่วงเวลาเกือบ 200 ล้านปีที่สัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ยักษ์หลากหลายสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการจากรูปแบบชีวิตง่ายๆ ในยุคพาเลโอโซอิคจนเป็นชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้นในยุคนี้ พวกมันเติบโตขึ้นมาครองโลกในยุคนี้ไปทั่วทุกหัวระแหง ยุคนี้แหละที่เป็นต้นเนิดของตำนานไดโนเสาร์หลายๆ เรื่องที่มีชื่อเสียงของฮอลลี่วู๊ด

ในยุคนี้จะแบ่งเป็นยุคย่อยๆ อีก 3 ยุคคือ ไทรแอสสิค (251 - 205 ล้านปีก่อน), จูราสสิค (205 - 141 ล้านปีก่อน) และครีเตเชียส (141 - 65 ล้านปีก่อน) ซึ่งไดโนเสาร์ที่ถูกขุดค้นพบในประเทศไทยนั้นว่ากันว่าเคยมีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียสนี่แหละ รวมถึงทั้งสองสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงอย่างสยามโมไทแรนนัส สยามเอนซิสและภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเนด้วย ในยุคเมโสโซอิคนี้ จะเริ่มมีนกตัวแรกถือกำเนิดเกิดขึ้นบนโลก และเมื่อเข้าสู่ในช่วงปลายยุคนี้ทวีปออสเตรเลียก็เริ่มแยกตัวออกจากแอนตาร์กติก้า จากนั้นโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ..

เพราะเกิดมหันตภัยล้างโลกที่เรารู้จักกันดีในชื่อ World-wide Extinction เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ The Last Dinosaur แล้วโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคต่อไป

 
ช้างแมมมอธ มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ของยุคซีโนโซอิค .. ส่วนนายแบบใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานในยุคนี้แหละ .. 555+


(ซ้าย) ภาพจาก http://www.student.chula.ac.th/~53370766/
(ขวา) ภาพจาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/of_the_human/index.html

นั่นก็คือยุคซีโนโซอิค (Cenozoic Era : 65 ล้านปีก่อน จนถึงปัจจุบัน) ถ้าหากยังมีไดโนเสาร์ พวกเราเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคงไม่มีโอกาสถือกำเนิดแน่ๆ อุกาบาตล้างโลกในครั้งนั้นเป็นเส้นแบ่งทางวิวัฒนาการที่กำหนดให้สายพันธุ์หนึ่งที่เคยยิ่งใหญ่ต้องล้มหายตายจากไปจนหมดสิ้น เพื่อให้เผ่าพันธุ์ใหม่ที่ทรงพลังทางสติปัญญาได้มีโอกาสวิวัฒนาการตัวเองขึ้นมาเพื่อครอบครองโลกสีฟ้าใบนี้ทดแทนยักษใหญ่เหล่านั้นได้อย่างไม่เคอะเขิน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) หลายสายพันธุ์ได้ถูกทดสอบจากธรรมชาติเพื่อคัดเลือกเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งและสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ โดยใช้ยุคน้ำแข็ง (Ice Age : 1.8 ล้านปีก่อน - 11,000 ปีก่อน) เป็นเครื่องมือ แล้วก็ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับที่จะขึ้นมาครองโลกในยุคนี้ นั่นก็คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” นั่นเอง

เอาเป็นว่าเราไปชมพิพิธภัณฑ์กันต่อดีกว่า ถ้าเล่าต่ออีกคงไม่จบง่ายๆ แน่นอนเพราะรายละเอียดมันยังมีอีกเยอะ


(ซ้าย) ภาพสามมิติ เข้าไปยืนแล้วถ่ายภาพมาเหมือนอยู่ในดอกไม้
(ขวาบน) อาณาขักรเห็ดรา หรือพืชจำพวกมีสปอร์
(ขวาล่าง) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคซีโนโซอิค นายแบบของผมก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก(ตัว)คน แต่ดูๆ ไปเหมือนจะเลี้ยงด้วยคอมพิวเตอร์กับทีวีมากกว่านะ .. 555+

เดินออกจากอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ก็เดินเลาะไปทางด้านหลังเพื่อไปสู่อาคาร 3 กันบ้างนะครับ ที่อาคารนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์สารสนเทศ  เข้าไปทำความรู้จักกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราในยุคสมัยนี้ ตั้งแต่ต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์และวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของแต่ละยุคสมัยของการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีดาวเทียม, ระบบใยแก้วนำแสง (Optical Fiber), ระบบ Simulation, ระบบการออกอากาศวิทยุ โทรทัศน์, การทำงานของระบบโทรศัพท์เซลลูล่าร์, การเขียนคำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อใช้บังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหว และอีกหลายๆ เทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในอนาคตอันใกล้นี้ ลองตามไปชมพร้อมๆ กันนะครับ


(ซ้าย) มีสัญลักษณ์นี้เป็นอนุสาวรีย์อยู่ด้านหน้าอาคาร 3
(ขวาบน) ด้านหน้าทางเข้าอาคาร
(ขวาล่าง) เข้าประตูมาใส่ล็อบบี้ก่อนจะเข้าสู่ส่วนใน
 
ทางเดินลาดขึ้นไป ลักษณะของทางเดินจะบังคับให้เราเดินผ่านไปตามเส้นทางขึ้นสู่ด้านบนก่อนจะลงมาทีละชั้นจนถึงชั้นเพื่อชมส่วนจัดแสดงจนถึงชั้นล่างสุดเพื่อกลับออกสู่ประตูอีกด้านหนึ่ง

 
ความเร็วในการส่งสัญญาณ / เทคโนโลยีการพิมพ์ / การสื่อสารเชื่อมโลก

 
การแผ่สัญญาณวิทยุกระจายเสียง / มองจากด้านบน จะเห็นส่วนจัดแสดงด้านล่างที่จัดไว้อย่างสวยงาม


(ซ้าย) รู้จักกับคอมพิวเตอร์
(ขวาบน) ชุมสายอัตโนมัติ
(ขวาล่าง) ระบบโทรศัพท์ไร้สายแบบเซลลูล่าร์

เทคโนโลยีของระบบแผงวงจรรวม ที่เราใช้ในคอมพิวเตอร์


ทดสอบการใช้คำสั่งภาษาปาสคาล ในการบังคับหุ่นยนต์ ..


Optical Fiber หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ใยแก้วนำแสง ที่เป็นมาตรฐานของการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงในปัจจุบัน


ระบบ GPS ที่เราคุ้นเคยในรถยนต์นั่นเอง ชื่อเต็มๆ ว่า Global Positioning System ที่ผนวกระบบนำร่องด้วยดาวเทียม (Satellite Navigation) เข้าไปด้วย

เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาอยู่ใกล้กับเรามากขึ้นทุกวัน เรากำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยอยู่ในรูปของสินค้าและบริการในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ / ก่อนออกจากอาคารนี้ก็จะพบกับ IT Theater ไม่ได้เข้าไปดูเพราะไม่มีรอบเย็นหรือรอบค่ำให้ชมกัน

แล้วก็ได้เวลาต้องโบกมือลาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ณ คลองห้า ปทุมธานีแห่งนี้ ได้ความรู้ใส่สมองเพิ่มเติมมากมายทั้งพ่อทั้งลูก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่สรรสร้างความฉลาดให้กับเด็กไทยในรุ่นต่อไปได้เป็นอย่างดี  อดีตเด็กไทยอย่างรุ่นผมก็ได้มารำลึกความหลัง ย้อมกลับมาเก็บเกี่ยวความสนุกสนานในวัยเด็กได้อีกครั้ง ได้ทบทวนหลายสิ่งหลายอย่างที่อาจจะหลงลืมไปบ้างแล้วจากระยะเวลาเนิ่นนานที่ผ่านไป

วันนี้มีความสุขกันมากมายครับ อยากขอเชิญชวนให้พาครอบครัวของคุณเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อนในวันหยุดจากไปเดินเล่นตากแอร์ตามห้างสรรพสินค้าหรือช็อปปิ้งมอลล์ชื่อดังทั้งหลายมาเที่ยวแบบนี้กันบ้าง แล้วจะรู้ว่าสนุกสนานแบบได้ความรู้นั้นมันก็มีอยู่จริงนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามรับชมนะครับ
ชมภาพเพิ่มเติมของทริปนี้ได้โดย คลิ๊กที่นี่ ครับ

| ภาคแรก | ภาคจบ |

 

เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2555 เวลา 23:45 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน : Tombass