วันจันทร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

กลับไปอีกครั้ง .. กับพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ .. ภาคจบ ..

 

| ภาคแรก | ภาคจบ |

ในเอนทรี่ก่อนทิ้งท้ายเอาไว้ว่า จะพาไปชมอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และอาคาร 3 พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งต้องเดินออกจากอาคาร 1 ที่เราเข้าชมไปเมื่อเอนทรี่ก่อนนั้น ผ่านไปทางลานจอดรถแล้วเข้าสู่อาคาร 2 โดยที่พื้นที่รอบๆ ก่อนเข้าสู่ตัวอาคารก็จะมีเหล่าบรรดาสัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ยักษ์ที่ใช้ชีวิตครองโลกอยู่เมื่อ 65 ล้านปีล่วงมาแล้ว นำทีมโดยพระเอกรูปหล่อมาดเท่ห์ยอดฮิตของไทยเราอย่างสยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส หรือว่าจะเป็นเจ้ายักษ์ใหญ่ใจดีอย่างภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน หรือแม้แต่เจ้าตัวเล็กสุดแสบอย่างเวโลซิแร็พเตอร์ มาจนถึงยุคต่อมาอย่างเสือเขี้ยวดาบ  และเมื่อยุคของไดโนเสาร์จากไป โลกก็ผ่านช่วงเวลาเข้ามาสู่ยุคของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ได้วิวัฒนาการขึ้นมาครองโลกทดแทนกัน จนวิวัฒนาการล่าสุดมีมนุษย์ถ้ำในยุคต่างๆ ก่อนจะมาถึงจุดสุดท้ายกลายเป็นโฮโมเซเปี้ยน เซเปี้ยนในปัจจุบันนี้


สยามโมไทแรนนัส อิสานเอนซิส อยู่ในตอนต้นของยุดครีเตเชียส ขุดค้นพบในประเทศไทยของเราเองที่จังหวัดขอนแก่นครับ

จากตรงนี้ก็เข้าสู่ตัวอาคารที่มีการจัดแสดงโดยค่อยๆ ปรับเปลี่ยนไปตามยุคตามสมัย ตั้งแต่เริ่มกำเนิดของโลก จนเริ่มมีน้ำมีต้นไม้และเกิดสัตว์ในทะเล จนคืบคลานขึ้นมาสู่พื้นดินกลายเป็นไดโนเสาร์ และเข้าสู่วิกฤติมหันตภัยที่จบชิวิตของไดโนเสาร์ทุกตัวให้ล้มตายหายไปพร้อมๆ กันจนหมดทั้งโลก แล้วโลกต้องเข้าสู่ช่วงของการเริ่มซ่อมสร้างตัวเองจนเกิดชีวิตใหม่ที่ขึ้นมาทดแทน หากว่าเมื่อ 65 ล้านปีก่อนไม่เกิดมหันตภัยครั้งนั้น และเหล่าสัตว์เลื้อยคลานอย่างไดโนเสาร์ยังเดินเพ่นพ่านครองโลกใบนี้อยู่ กลุ่มของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) อาจไม่มีโอกาสได้วิวัฒนาการมาจนเป็นอย่างทุกวันนี้ รวมถึงมนุษย์ก็อาจจะไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยซ้ำ




ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ไดโนเสาร์คอยาว (ซอโรพอด)ขนาดกลางแห่งยุคครีเตเชียส เป็นชนิดแรกที่พบในประเทศไทย

เส้นแบ่งแห่งวิวัฒนาการเมื่อ 65 ล้านปีก่อนนั้น ช่วยแบ่งแยกยุคของเรากับยุคดึกดำบรรพ์ของไดโนเสาร์ออกจากกันและยังทำให้พวกเรามีตัวตนขึ้นได้จนถึงทุกวันนี้อีกด้วย ส่วนของด้านในอาคารนั้น การจัดให้เราเดินไปตามเส้นทางที่เป็นไปตามลำดับผ่านยุคสมัยต่างๆ ทำให้เราสามารถเข้าใจและมองเห็นภาพของวิวัฒนาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป พร้อมกับมีเจ้าหน้าที่ประจำตามจุดต่างๆ เพื่อคอยให้ข้อมูลความรู้กับเด็กๆ และผู้ที่สนใจได้เป็นอย่างดี

จากบรรทัดนี้ให้ภาพถ่ายและคำบรรยายช่วยเล่าเรื่องต่อเลยแล้วกันนะครับ

 
เข้าประตูมาก็ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานก่อนจะเข้าไปผ้านอุโมงค์กาลเวลา .. / เข้ามาชมวิดีทัศน์จำลองปรากฎการณ์การกำเนิดของโลกสีฟ้าใบนี้ครับ ตั้งแต่การก่อเกิดดวงอาทิตย์จนมาเป็นระบบสุริยะและดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบ

 
เดินเข้ามาก็เจอกับแผนภูมิขนาดใหญ่เต็มผนัง แสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบของชีวิต เป็นการศึกษาถึงเรื่องของอะตอมและโมเลกุลต่างๆ ที่รวมตัวกันก่อให้เกิดเป็นชีวิตเล็กๆ แล้วค่อยๆ วิวัฒนาการทีละเล็กทีละน้อยต่อเนื่องกันเป็นเวลานับหลายๆ ล้านปีจนกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ซับซ้อนขึ้นอย่างเฉกเช่นในปัจจุบัน / เข้าสู่อุโมงค์แห่งกาลเวลาเพื่อย้อนไปดูวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตในแต่ละยุคแต่ละสมัย

เอาล่ะไหนๆ เราก็พูดถึงเรื่องนี้กันแล้ว ผมก็จะลองเรียบเรียงลำดับของยุคต่างในแต่ละช่วงของวิวัฒนาการไว้ในเอนทรี่นี้เพื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้ที่สนใจซักหน่อยก็แล้วกัน ทราบไว้เป็นความรู้รอบตัวเอาไว้ไปเล่าให้ลูกๆ หลานๆ ฟังได้นะ  เพราะเด็กๆ แทบจะทุกคนจะชอบและให้ความสนใจกับเรื่องของไดโนเสาร์มากๆ ไม่รู้ว่าทำไมเหมือนกัน พอเล่าเรื่องเกี่ยวกับไดโนเสาร์ ยุคน้ำแข็ง หรือยุคหินเมื่อไหร่ ลูกชายผมเป็นต้องเข้ามานั่งฟังอย่างสนอกสนใจ มีคำถามมาถามได้ไม่หยุดหย่อน แล้วก็ชอบให้เล่าให้ฟังอีกบ่อยๆ ด้วยนะ แม้ว่าจะเล่าเหมือนเดิมก็เถอะ (ก็เค้าได้ศึกษามาแล้วเขียนตำรับตำราออกมาแบบนั้น ไม่ว่าจะเล่าซักกี่ทีมันก็เหมือนเดิมนั่นแหละ .. แต่ก็ชอบฟังนะนั่น) มาเริ่มต้นกันเลยครับ ..


(ซ้าย) ภาพจาก http://ontario-geofish.blogspot.com/2011/11/massive-permian-co2-spill-exactly-same.html
(ขวา) ภาพจาก http://mail.colonial.net/~hkaiter/paleontology.html

อาจแตกต่างกันนิดหน่อยในช่วงปีของแต่ละยุคนะครับ ต่างสำนักต่างสถาบัน ไม่มีใครถูกทั้งหมดหรอกครับ การพิสูจน์ตัวอย่างฟอสซิลด้วยวิธีการหาอายุจากคาร์บอนกัมมันตรังสี หรือคาร์บอน-14 ซึ่งอาจจะยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่บ้าง เราไม่ใช่นักวิชาการก็เพียงแค่อาศัยดูไว้เป็นแนวทางแล้วก็สังเกตว่าแต่ละยุคมีเหตุการณ์สำคัญอะไรเกิดขึ้นบ้างเท่านั้นก็พอ หากสนใจในเรื่องนี้คงต้องศึกษาเพิ่มเติมกันอีกเยอะเลยทีเดียวล่ะ


(ซ้าย) ภาพจาก http://www.geol.umd.edu/~tholtz/G102/102meso1.htm 
(ขวา) ยุคเมโสโซอิค ที่จัดแสดงในอาคาร 2

เริ่มต้นจากมหายุคพรีแคมเบรียน (Pre-Cambrian Era : ประมาณ 4,567 - 545 ล้านปีก่อน) ตั้งแต่กำเนิดโลกใบนี้ ที่โลกยังร้อนอยู่ มีแต่หินหลอมละลายเต็มไปหมด มีแต่ก๊าซพิษอยู่ทุกอณูของชั้นบรรยากาศ สภาพแวดล้อมของโลกยังไม่เหมาะสมกับการกำเนิดชิวิต จึงยังไม่มีชีวิตใดๆ จะสามารถมีชีวิตอยู่บนโลกในสภาพเช่นนั้นได้

จนมาสู่ยุคพาเลโอโซอิค (Paleozoic Era : 545 - 251 ล้านปีก่อน) ที่เริ่มมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เกิดจากการรวมตัวกันของโปรตีนในอะตอมต่างๆ มาเกาะเกี่ยวเข้าหากันจนเกิดเป็นชีวิตที่มีรูปแบบง่ายๆ ขึ้นในท้องทะเล ส่วนบนพื้นดินก็มีเหล่าพันธุ์ไม้ดึกดำบรรพ์เริ่มเติบโตเผยแผ่กิ่งก้านสาขาจนสูงใหญ่เต็มไปทั่วบริเวณ เริ่มมีสัตวฺเลื้อยคลานกำเนิดขึ้นและแมลงปีกแข็งที่บินได้รวมถึงพืชกลุ่มที่มีสปอร์ ทั้งหมดใช้เวลานานถึงกว่า 294 ล้านปีในการวิวัฒนาการจนเกิดรูปแบบชีวิตที่หลากหลายมากขึ้น

แล้วก็เกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เมื่อ 251 ล้านปีก่อนที่นักวิชาการเรียกว่า Permian-Triassic Extinction
จากก็เริ่มเข้าสู่ยุคเมโสโซอิค (Mesozoic Era : 251 - 65 ล้านปีก่อน) เป็นช่วงเวลาเกือบ 200 ล้านปีที่สัตว์เลื้อยคลานตัวใหญ่ยักษ์หลากหลายสายพันธุ์ที่วิวัฒนาการจากรูปแบบชีวิตง่ายๆ ในยุคพาเลโอโซอิคจนเป็นชีวิตที่ซับซ้อนมากขึ้นในยุคนี้ พวกมันเติบโตขึ้นมาครองโลกในยุคนี้ไปทั่วทุกหัวระแหง ยุคนี้แหละที่เป็นต้นเนิดของตำนานไดโนเสาร์หลายๆ เรื่องที่มีชื่อเสียงของฮอลลี่วู๊ด

ในยุคนี้จะแบ่งเป็นยุคย่อยๆ อีก 3 ยุคคือ ไทรแอสสิค (251 - 205 ล้านปีก่อน), จูราสสิค (205 - 141 ล้านปีก่อน) และครีเตเชียส (141 - 65 ล้านปีก่อน) ซึ่งไดโนเสาร์ที่ถูกขุดค้นพบในประเทศไทยนั้นว่ากันว่าเคยมีชีวิตอยู่ในยุคครีเตเชียสนี่แหละ รวมถึงทั้งสองสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงอย่างสยามโมไทแรนนัส สยามเอนซิสและภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเนด้วย ในยุคเมโสโซอิคนี้ จะเริ่มมีนกตัวแรกถือกำเนิดเกิดขึ้นบนโลก และเมื่อเข้าสู่ในช่วงปลายยุคนี้ทวีปออสเตรเลียก็เริ่มแยกตัวออกจากแอนตาร์กติก้า จากนั้นโลกก็ต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ..

เพราะเกิดมหันตภัยล้างโลกที่เรารู้จักกันดีในชื่อ World-wide Extinction เป็นสาเหตุของเหตุการณ์ The Last Dinosaur แล้วโลกก็ก้าวเข้าสู่ยุคต่อไป

 
ช้างแมมมอธ มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคน้ำแข็ง (Ice Age) ของยุคซีโนโซอิค .. ส่วนนายแบบใช้ชีวิตอย่างสนุกสนานในยุคนี้แหละ .. 555+


(ซ้าย) ภาพจาก http://www.student.chula.ac.th/~53370766/
(ขวา) ภาพจาก http://www.baanjomyut.com/library_2/extension-3/of_the_human/index.html

นั่นก็คือยุคซีโนโซอิค (Cenozoic Era : 65 ล้านปีก่อน จนถึงปัจจุบัน) ถ้าหากยังมีไดโนเสาร์ พวกเราเหล่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคงไม่มีโอกาสถือกำเนิดแน่ๆ อุกาบาตล้างโลกในครั้งนั้นเป็นเส้นแบ่งทางวิวัฒนาการที่กำหนดให้สายพันธุ์หนึ่งที่เคยยิ่งใหญ่ต้องล้มหายตายจากไปจนหมดสิ้น เพื่อให้เผ่าพันธุ์ใหม่ที่ทรงพลังทางสติปัญญาได้มีโอกาสวิวัฒนาการตัวเองขึ้นมาเพื่อครอบครองโลกสีฟ้าใบนี้ทดแทนยักษใหญ่เหล่านั้นได้อย่างไม่เคอะเขิน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (Mammal) หลายสายพันธุ์ได้ถูกทดสอบจากธรรมชาติเพื่อคัดเลือกเผ่าพันธุ์ที่แข็งแกร่งและสามารถปรับตัวให้อยู่รอดได้ โดยใช้ยุคน้ำแข็ง (Ice Age : 1.8 ล้านปีก่อน - 11,000 ปีก่อน) เป็นเครื่องมือ แล้วก็ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับที่จะขึ้นมาครองโลกในยุคนี้ นั่นก็คือสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “มนุษย์” นั่นเอง

เอาเป็นว่าเราไปชมพิพิธภัณฑ์กันต่อดีกว่า ถ้าเล่าต่ออีกคงไม่จบง่ายๆ แน่นอนเพราะรายละเอียดมันยังมีอีกเยอะ


(ซ้าย) ภาพสามมิติ เข้าไปยืนแล้วถ่ายภาพมาเหมือนอยู่ในดอกไม้
(ขวาบน) อาณาขักรเห็ดรา หรือพืชจำพวกมีสปอร์
(ขวาล่าง) สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในยุคซีโนโซอิค นายแบบของผมก็เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีก(ตัว)คน แต่ดูๆ ไปเหมือนจะเลี้ยงด้วยคอมพิวเตอร์กับทีวีมากกว่านะ .. 555+

เดินออกจากอาคาร 2 พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ก็เดินเลาะไปทางด้านหลังเพื่อไปสู่อาคาร 3 กันบ้างนะครับ ที่อาคารนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์สารสนเทศ  เข้าไปทำความรู้จักกับนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราในยุคสมัยนี้ ตั้งแต่ต้นกำเนิดของคอมพิวเตอร์และวิวัฒนาการที่ก้าวกระโดดของแต่ละยุคสมัยของการประมวลผลข้อมูลข่าวสาร และเทคโนโลยีดาวเทียม, ระบบใยแก้วนำแสง (Optical Fiber), ระบบ Simulation, ระบบการออกอากาศวิทยุ โทรทัศน์, การทำงานของระบบโทรศัพท์เซลลูล่าร์, การเขียนคำสั่งภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อใช้บังคับหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหว และอีกหลายๆ เทคโนโลยีที่กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราในอนาคตอันใกล้นี้ ลองตามไปชมพร้อมๆ กันนะครับ


(ซ้าย) มีสัญลักษณ์นี้เป็นอนุสาวรีย์อยู่ด้านหน้าอาคาร 3
(ขวาบน) ด้านหน้าทางเข้าอาคาร
(ขวาล่าง) เข้าประตูมาใส่ล็อบบี้ก่อนจะเข้าสู่ส่วนใน
 
ทางเดินลาดขึ้นไป ลักษณะของทางเดินจะบังคับให้เราเดินผ่านไปตามเส้นทางขึ้นสู่ด้านบนก่อนจะลงมาทีละชั้นจนถึงชั้นเพื่อชมส่วนจัดแสดงจนถึงชั้นล่างสุดเพื่อกลับออกสู่ประตูอีกด้านหนึ่ง

 
ความเร็วในการส่งสัญญาณ / เทคโนโลยีการพิมพ์ / การสื่อสารเชื่อมโลก

 
การแผ่สัญญาณวิทยุกระจายเสียง / มองจากด้านบน จะเห็นส่วนจัดแสดงด้านล่างที่จัดไว้อย่างสวยงาม


(ซ้าย) รู้จักกับคอมพิวเตอร์
(ขวาบน) ชุมสายอัตโนมัติ
(ขวาล่าง) ระบบโทรศัพท์ไร้สายแบบเซลลูล่าร์

เทคโนโลยีของระบบแผงวงจรรวม ที่เราใช้ในคอมพิวเตอร์


ทดสอบการใช้คำสั่งภาษาปาสคาล ในการบังคับหุ่นยนต์ ..


Optical Fiber หรือที่เราชอบเรียกกันว่า ใยแก้วนำแสง ที่เป็นมาตรฐานของการรับ-ส่งข้อมูลความเร็วสูงในปัจจุบัน


ระบบ GPS ที่เราคุ้นเคยในรถยนต์นั่นเอง ชื่อเต็มๆ ว่า Global Positioning System ที่ผนวกระบบนำร่องด้วยดาวเทียม (Satellite Navigation) เข้าไปด้วย

เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาอยู่ใกล้กับเรามากขึ้นทุกวัน เรากำลังใช้เทคโนโลยีเหล่านี้โดยที่ไม่รู้ตัว โดยอยู่ในรูปของสินค้าและบริการในหลายๆ ผลิตภัณฑ์ / ก่อนออกจากอาคารนี้ก็จะพบกับ IT Theater ไม่ได้เข้าไปดูเพราะไม่มีรอบเย็นหรือรอบค่ำให้ชมกัน

แล้วก็ได้เวลาต้องโบกมือลาพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ณ คลองห้า ปทุมธานีแห่งนี้ ได้ความรู้ใส่สมองเพิ่มเติมมากมายทั้งพ่อทั้งลูก นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการเรียนรู้ที่สรรสร้างความฉลาดให้กับเด็กไทยในรุ่นต่อไปได้เป็นอย่างดี  อดีตเด็กไทยอย่างรุ่นผมก็ได้มารำลึกความหลัง ย้อมกลับมาเก็บเกี่ยวความสนุกสนานในวัยเด็กได้อีกครั้ง ได้ทบทวนหลายสิ่งหลายอย่างที่อาจจะหลงลืมไปบ้างแล้วจากระยะเวลาเนิ่นนานที่ผ่านไป

วันนี้มีความสุขกันมากมายครับ อยากขอเชิญชวนให้พาครอบครัวของคุณเปลี่ยนบรรยากาศการพักผ่อนในวันหยุดจากไปเดินเล่นตากแอร์ตามห้างสรรพสินค้าหรือช็อปปิ้งมอลล์ชื่อดังทั้งหลายมาเที่ยวแบบนี้กันบ้าง แล้วจะรู้ว่าสนุกสนานแบบได้ความรู้นั้นมันก็มีอยู่จริงนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามรับชมนะครับ
ชมภาพเพิ่มเติมของทริปนี้ได้โดย คลิ๊กที่นี่ ครับ

| ภาคแรก | ภาคจบ |

 

เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ.2555 เวลา 23:45 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน : Tombass

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น