ไฟสตูดิโอคือหนึ่งในชุดเครื่องมือเอนกประสงค์ที่มีประโยชน์ของช่างภาพเช่นคุณ มันสามารถสร้างแสงที่มีคุณภาพได้ไม่จำกัดเวลา ไม่ต้องรอแสงธรรมชาติและมันก็มีส่วนขยาย, อุปกรณ์ต่อพ่วงและเทคนิคการใช้งานอีกจำนวนมากที่ช่วยให้คุณออกแบบรูปทรงของแสงได้ตามที่ต้องการเพื่อเติมเต็มมุมมองที่สร้างสรรค์ของคุณนั่นเอง อย่างไรก็ตามทางเลือกทั้งหมดนั้นมันก็เป็นเหตุผลที่ทำให้คุณรู้สึกสับสนและตัดสินใจลำบากในการใช้งานพวกมัน จำนวนที่มีอยู่มากมายของเครื่องมือเหล่านั้นมันก็ทำให้คุณเชื่อว่าคุณจำเป็นต้องใช้พวกมันให้ได้ประโยชน์มากกว่าขึ้นกว่าเดิม
แต่ยังเคราะห์ดีนะที่ในกรณีของไฟสตูดิโอมันมีแนวคิดที่เรียกว่า "น้อยคือมาก" ซึ่งในแบบฝึกหัดนี้ผมได้สาธิต 5 แบบของการใช้ไฟสตูดิโอดวงเดียวเพื่อสร้างผลของภาพที่ดีกับตัวแบบหลายๆ อย่าง แม้ว่าแต่ละภาพสร้างจากส่วนขยายที่กำหนดมาแล้ว แต่ว่าการจัดแสงในแบบฝึกหัดนี้นั้นจะสามารถทำงานกับส่วนขยายเกือบทั้งหมดที่คุณเลือกได้ดีเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถเปลี่ยนมาใช้ซอฟท์บ๊อกซ์แทนบิวตี้ดิช มันก็จะให้รูปทรงของแสงที่อ่อนนุ่มกว่าแต่คุณก็จะยังได้ผลลัพธ์ของภาพที่ดีอยู่และบางเทคนิคก็ต้องใช้รีเฟล็กเตอร์สีเงินอีกด้วย
ถ้าคุณไม่มีรีเฟล็กเตอร์ คุณก็สามารถที่จะเอากระดาษการ์ดแผ่นใหญ่ๆ ติดด้วยกระดาษฟลอยด์ หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือใช้กระจกสะท้อนเสียเลย คุณไม่จำเป็นต้องใช้หัวไฟสตูดิโอหรือไฟแฟลชก็ได้ เพราะแสงจากหน้าต่างก็ให้ผลของภาพได้เหมือนๆ กัน
นี่คือ 5 รูปแบบการจัดแสงไฟสตูดิโอด้วยไฟดวงเดียวที่คุณสามารถทำได้ด้วยตัวเอง
การจัดแสงแบบที่ 1
เทคนิคง่ายๆ คือเป้าหมายของภาพ แหล่งกำเนิดแสงคือหัวไฟสตูดิโอกับซอฟท์บ๊อกซ์ขนาดกลาง จัดวางให้ห่างจากตัวแบบประมาณ 5 ฟุต และยกให้สูงขึ้นไปประมาณ 4 ฟุตแล้วกดลงมา 45 องศา กล้องอยู่ใต้ซอฟท์บ๊อกซ์ตรงๆ (บัตเทอร์ฟลาย ไลท์ติ้ง)
กึ่งกลางของซอฟท์บ๊อกซ์ให้หันไปที่ด้านซ้ายของตัวแบบ(ทางขวาของกล้อง) ให้แสงที่ออกจากขอบของแหล่งกำเนิดแสงตรงไปตกที่ตัวแบบ ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่า ฟีเธอร์ริ่ง หรือการลดความเข้มของแสง มันมีประโยชน์ในการควบคุมและการปรับแสงในภาพอย่างละเอียด ช่วยสร้างแสงที่อ่อนนุ่มจากส่วนขยายที่ให้แสงแข็งอย่างเช่นจานสะท้อนแสง 110 องศา
ถ้าคุณไม่คิดจะใช้ฟีเธอร์ริ่งเทคนิคในตอนนี้ ก็ลองปรับแหล่งกำเนิดแสงของคุณหันไปที่จมูกของตัวแบบแทนดูก็ได้
การจัดแสงแบบที่ 2
เพื่อสร้างแสงแบบดราเมติกในภาพของคุณ ก็ลองให้แสงกับตัวแบบของคุณจากด้านหลังดูสิ ภาพน้องหมาของผมให้แสงไฟจากซอฟท์บ๊อกซ์ที่อยู่ 45 องศาจากด้านหลังและกล้องอยู่ด้านซ้าย ซอฟท์บ๊อกซ์จะอยู่ใกล้ๆ กับตัวแบบมากๆ แค่ให้อยู่นอกเฟรมภาพจากทางด้านซ้ายเท่านั้นก็พอ แต่เพราะน้องหมาเป็นสีดำและขาวจึงสร้างความเปรียบต่างสูงมากในภาพนี้ เงาทางซ้ายของน้องหมาด้านที่อยู่ใกล้กับกล้องจะมืดมากๆ เพื่อจะแก้ปัญหานี้ คุณควรจะต้องใช้แผ่นสะท้อนแสงมาช่วย แค่ให้มันอยู่นอกกรอบภาพทางด้านขวาก็พอและการนำมันเข้ามาใกล้ๆ จะช่วยให้คุณสร้างแสงสะท้อนเพื่อเติมแสงในเงามืดได้เป็นอย่างดี
การจัดแสงแบบที่ 3
นำเอาเทคนิคที่ผ่านมาทั้งสองมาใช้ร่วมกัน ภาพนี้ให้แสงจากซอฟท์บ๊อกซ์จากด้านหลังของขนมโดยอยู่ห่างออกไป 6 ฟุตและยกสูงขึ้นไป 5 ฟุต แล้วแทนที่จะหันไฟไปที่ขนมโดยตรงก็ให้หันไฟไปตรงหน้า (ไม่ต้องหันลงมาที่ขนม) เพื่อที่ซอฟท์บ๊อกซ์จะไม่ได้ให้แสงไปที่ตัวแบบโดยตรง นี่เป็นรูปแแบบของฟีเธอร์ริ่งอีกระดับเพื่อสร้างแสงอ่อนนุ่มที่สวยงาม
เมื่อคุณลดความเข้มของแสงด้วยวิธีนี้ ต้องระลึกเอาไว้ว่าคุณกำลังให้แสงของภาพด้วยแสงที่ฟุ้งกระจายจากไฟแฟลชของคุณ คุณจำเป็นต้องชดเชยแสงโดยการปรับ ISO, เพิ่มกำลังไฟแฟลชหรือปรับตั้งรูรับแสง
และเพื่อเติมรายละเอียดในส่วนของเงาโดยการใช้แสงแบ็คไลท์(แสงจากด้านหลัง) ลองใช้แผ่นสะท้อนแสงสีเงินของคุณดูสิ
การจัดแสงแบบที่ 4
ถ้าคุณต้องการภาพที่มีความเปรียบต่างของแสงที่มากกว่าแสงจากซอฟท์บ๊อกซ์ละก็ ลองใช้บิวตี้ดิชสีเงินดูสิ ในภาพนี้แหล่งกำเนิดแสงอยู่ทางขวาเล็กน้อยจากตัวกล้องและห่างจากตัวแบบ 3 ฟุต จัดวางของด้านล่างของบิวตี้ดิชอยู่ตรงกับส่วนบนสุดของหัวของตัวแบบก็เพื่อผลของฟีเธอร์ริ่งอีกนั่นเอง และเพื่อจะเปิดรายละเอียดในส่วนของเงา บอกนางแบบของคุณให้ถือแผ่นสะท้อนแสงแล้วขยับปรับให้ชี้ไปที่คางและอย่าลืมให้มันอยู่นอกกรอบภาพด้วยล่ะ
การจัดแสงแบบที่ 5
ถ้าคุณอยากได้แสงอ่อนนุ่ม คุณจำเป็นต้องเพิ่มขนาดของแหล่งกำเนิดแสงให้สัมพันธ์กับตัวแบบของคุณ แท้จริงแล้วทางที่จะทำได้คือการเลื่อนแหล่งกำเนิดแสงให้เข้ามาอยู่ใกล้ๆ ตัวแบบนั่นเองหรือไม่ก็ใช้ส่วนขยายเช่นซอฟท์บ๊อกซ์ที่ใหญ่ขึ้น อีกทางหนึ่งคือคุณสามารถที่จะหันแหล่งกำเนิดแสงไปสะท้อนกับผนังหรือเพดาน เพื่อเปลี่ยนพื้นผิวของมันให้เป็นแหล่งกำเนิดแสงของคุณ
เพื่อเลียนแบบแสงในภาพนี้ ให้ใส่ไฟแฟลชสตูดิโอของคุณกับจานสะท้อนแสงเปล่าๆ (ไม่ต้องใช้ซอฟท์บ๊อกซ์) แล้วหันมันไปยังมุมของห้อง ที่สำคัญต้องระวังเรื่องสีของผนังด้วยนะไม่เช่นนั้น แม้แต่แค่การเพี้ยนของสีขาวเพียงเล็กน้อยนั้นสามารถเป็นสาเหตุให้สีของภาพผิดเพี้ยนไปและมันจะต้องเสียเวลามากในการแก้ไขอีกด้วย แต่ถ้าคุณถ่ายภาพขาว-ดำแล้วละก็ ความเพี้ยนของสีจะไม่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย และคุณก็สามารถสะท้อนแสงของคุณจากพื้นผิวต่างๆ ตามที่คุณจินตนาการได้เต็มที่
อย่างที่เห็น คุณไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์มากมายเพื่อใช้สำหรับการจัดแสงในสตูดิโอ แค่ไฟดวงเดียว, ส่วนขยายอีก 1-2 อย่างและแผ่น/จานสะท้อนแสง ก็จะช่วยลบข้อจำกัดของโอกาสในการสร้างสรรค์ภาพของคุณได้แล้ว เดินหน้าต่อไปและนำข้อแนะนำนี้ไปพิจารณาถึงชุดไฟที่จำเป็นและสไตล์ของคุณ จงอย่ากลัวที่จะทดลอง เพราะที่จริงแล้วการทดลองเป็นวิธีที่จะใช้งานอุปกรณ์ของคุณได้อย่างไม่มีข้อจำกัดต่างหากล่ะ
เกี่ยวกับผู้เขียน : จอห์น แม็คอินไทร์ เป็นช่างภาพบุคคลอาศัยอยู่ใน UK เขาศึกษาการถ่ายภาพเชิงพาณิชย์ที่มหาวิทยาลัย ลีดด์ เมโทรโพลิแทนท์ เขาหลงใหลในการถ่ายภาพและพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอๆ คุณสามารถรู้จักกับเขาเพิ่มเติมได้ที่อินสตาแกรมของเขา
แปล/เรียบเรียง : Tombass
เผยแพร่ : วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน 2558 เวลา 3:40 น. GMT+7 THAILAND