วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2555

นั่งดูรูปตอนไปตรุษจีนปีนี้ .. ขอเขียนถึงย่าหน่อยนะ ..

เมื่อต้นปี (22 ม.ค.2555) ไปไหว้ตรุษจีนที่บ้านต่างจังหวัด (ดำเนินสะดวก, ราชบุรี) ก็ไปรวมญาติกันเหมือนทุกๆ ปีนั่นแหละ ได้เจอหน้าปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา พี่ๆ น้องๆ ที่พร้อมใจกันมาไหว้บรรพบุรุษ พวกเราอยู่กรุงเทพฯ ไกลจากญาติๆ เวลาไปแต่ละทีก็จะต้องมีของกินของฝากให้กลับมากินกันเพียบซะทุกครั้งไป เป็นน้ำใจ, ความเป็นห่วงใยและหวังดีที่มีให้กันอย่างไม่เคยเสื่อมคลายจากญาติพี่น้อง แม้ว่าทุกวันนี้แต่ละคนจะมีลูกๆ หลานๆ โตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันไปหมดแล้ว

เดี๋ยวผมจะบรรยายด้วยภาพประกอบเอนทรี่นี้ไปพร้อมๆ กันเลย .. อ่านแล้วอย่างเพิ่งงงกันนะครับ .. 555+

เนื้อเรื่องกับคำบรรยายภาพอาจไม่ค่อยเกี่ยวกันเท่าไหร่ เพราะเดิมทีผมแค่อยากจะเขียนถึงย่าเพราะคิดถึงแค่นั้น แต่พอดูภาพแล้วเลยอยากจะเล่าเรื่องราวเก่าๆ ให้ฟังด้วย เลยเขียนลงไปตรงคำบรรยายภาพแทน ทำไปทำมาปรากฎว่า ตอนนี้คำบรรยายภาพจะเยอะกว่าเนื้อหาไปแล้วเนี่ยะ

บ้านลุงเหลียว (เฉลียว) ลุงของป๊ะป๋า .. อยู่ริมคลอง ยังสามารถใช้การสัญจรทางน้ำกันได้อยู่ด้วย .. แต่ถนนก็ตัดผ่านเข้าถึงรั้วบ้านแล้วล่ะ สะดวกสบายขึ้นเยอะเลย หากเป็นสมัยก่อนถ้าจะเข้ามาบ้านนี้ ก็ต้องเดินเลาะมาตามคันดินริมคลองผ่านมาตามท้องสวนของเพื่อนบ้าน .. หรือไม่ก็ต้องใช้เรือเท่านั้น ..

 
ร่องสวนของบ้านลุงเหลียว ยังคงความเป็นธรรมชาติ ปลูกผลหมากรากไม้อยู่เหมือนเดิม / ลำคลองที่มีอยู่ในสมัยก่อน ก็ไม่ได้หายไปไหน ผู้คนแถวนั้นก็ยังคงใช้สัญจรไปมากันตามปกติ

ถ้าเห็นเสาไฟฟ้าแบบนี้ มีเรือพายอยู่บนหัวเสา .. ก็เป็นอันรู้ได้เลยว่าที่ไหน ..? เมื่อก่อนไม่มีหรอก แค่เสาไม้ผุๆ กับสายไฟเส้นเล็กๆ สองเส้นก็ดีถมไปแล้วสำหรับบ้านสวนแบบนี้ แต่พอตลาดน้ำเป็นที่โด่งดังขึ้นมา เลยเปลี่ยนใหม่ให้ไฉไลกว่าเดิม

ขอเล่าความทรงจำเก่าๆ หน่อยนึงละกัน ..

ภาพของแสงไฟสลัวๆ ดวงเล็กๆ ยามค่ำคืนยังตราตรึงอยู่ในความทรงจำอยู่เลย เพราะความสว่างจากหลอดกลมแบบไส้ดวงเล็กๆ ที่ให้แสงช่างริบหรี่เหลือทนและรอบๆ ข้างก็มีแต่ร่องสวนดำมืดทะมึนกับต้นมะพร้าวสูงใหญ่ที่ยืนตระหง่านตัดกับท้องฟ้าที่สว่างโพลงไปทั่วด้วยแสงจันทร์ยามค่ำในคืนข้างขึ้นกอรปกับสายลมอ่อนๆ พัดให้ใบพริ้วไหวแกว่งโยกเยกไปมาเกิดเสียงแกรกกรากบาดความรู้สึกเสียเหลือเกิน มองไปมันชวนให้ขวัญผวาจิตใจกระเจิดกระเจิงไม่อยู่กับเนื้อกับตัว เวลาได้ยินเสียงมะพร้าวหล่นตุ้บลงมา บรื๋อว์ .. หัวใจแทบหยุดเต้น อยากจะกรี๊ดให้ดังๆ แล้วรีบวิ่งไปให้พ้นๆ จากบริเวณนั้น เพราะเหมือนเจ้าต้นมะพร้าวมันจะเปลี่ยนหน้าตาเป็นอย่างอื่นแล้วเดินง่อนแง่นตามเรามาติดๆ .. อ๊ากกกซ์ .. สยอง .. ขนลุกเลยอ่ะ ..) เวลาที่พ่อผมขับรถไปหาย่าแล้วต้องเอารถไปจอดฝากไว้ที่ท่ารถ (ตรงที่เป็นตลาดน้ำนั่นแหละ สมัยก่อนเค้าจะมีข้าวของผลผลิตต่างๆ จากชาวสวนแถวๆ นั้นมาขึ้นที่ท่านี้ จะมีรถสิบล้ออีซูซุหน้ายิ้มของเหล่าพ่อค้าที่มาจอดนอนรอรับซื้อผลผลิตกันที่นี่แหละ ต่อมาภายหลังก็เลยกลายเป็นตลาดน้ำชื่อดังจนทุกวันนี้ ..)

แล้วก็เดินๆๆๆๆ ออกมารอขึ้นรถสองแถวยามค่ำคืนเพื่อไปลงหน้าวัด มันช่างเป็นเวลาที่อึดอัดทรมานใจผมเป็นที่สุดเพราะบังคับใจไม่ให้จินตนาการถึงความน่ากลัวนั้นไม่ได้ ถ้ามาหลายๆ คนก็พอว่าอยู่ แต่ถ้ามาคนเดียวเมื่อไหร่ ผมจะต้องขอเข้าไปนั่งด้านในสุดของรถสองแถว ไม่ยอมนั่งด้านท้ายโดยเด็ดขาด ทั้งที่ประมาณไม่ถึงกิโลก็ถึงหน้าวัดแล้ว
จากนั้นก็เดินข้ามสะพานหน้าวัดโชติฯ เข้าไปตามคลองจนสุดทางเพราะบ้านย่าจะอยู่หลังสุดท้ายปลายคลองก่อนจะเลี้ยวไปบ้านลุงเหลียว สะพานไม้ที่เดินเข้ามาจะสุดแค่กลางคลองแค่นั้น แล้วต้องข้ามสะพานไม้แผ่นเดียวลงมาเดินที่ทางเล็กๆ เอาแผ่นไม้ปูพอเป็นทางไว้ไม่ให้รองเท้าหนังสวยๆ ต้องมาเลอะดินเทอะโคลน เดินเลาะเลียบไปตามริมคลองจนไปสุดที่บ้านย่า และจากนั้นหากใครจะเดินเข้าไปบ้านข้างในก็ต้องเดินไปตามคันดินผ่านร่องสวนไปเรื่อยๆ หากไม่งั้นก็ต้องพายเรือเข้า-ออกแทน

เอ้า .. กลับมาเข้าเนื้อเรื่องกันต่อ ..

จากรุ่นปู่ย่า .. มาถึงรุ่นพ่อแม่ จนมาถึงรุ่นของเราและกำลังผ่านไปสู่รุ่นของลูกหลาน จากรุ่นสู่รุ่นที่มีสายเลือดร่วมกัน แม้จะแบ่งแตกแขนงแยกวงศาคณาญาติออกไปอีกหลายสาย ต่างคนต่างก็มีครอบครัวของตัวเอง แต่อย่างไงเสียก็ยังคงมีบรรพบุรุษร่วมกัน เมื่อถึงวันสำคัญแบบนี้ก็ได้มาเจอกัน ได้ร่วมกินข้าวด้วยกัน พูดคุยไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ได้เล่าเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของแต่ละคนแบ่งปันให้พี่ๆ น้องๆ ได้รับรู้ความเป็นไปล่าสุดของแต่ละคน เพราะทุกคนเนี่ยะเมื่อก่อนก็แก้ผ้ากระโดดน้ำคลองวิ่งเล่นตามร่องสวนตากแดดจนตัวดำมาด้วยกันทั้งนั้น เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ไม่ให้มันห่างเหินกันไปตามหมู่เหล่าตระกูลที่เพิ่มเข้ามา

 
หลังบ้านลุงเหลียวก็ติดคลองอีกเหมือนกัน แถมยังมีทางเดินปูนกว้าง ให้เดินไปมาหาสู่กันได้โดยสะดวก ไม่ต้องไปเดินตามคันดินร่องสวนกันอีกแล้ว เหล่ารถมอเตอร์ไซค์เลยได้อานิสงฆ์มาใช้ทางเส้นนี้วิ่งร่วมกันกับคนเดินเท้าด้วยอีกต่างหาก / คลองนี้เมื่อก่อนเป็นหน้าบ้าน ตอนนี้เป็นข้างบ้านไปแล้ว สมัยเด็กๆ ถ้าไม่เดินมาจากหน้าวัดโชติฯ แล้วเดินเลาะร่องสวนมา ก็พายเรือมาตามตลองนี้แหละ / ถึงมีถนนตัดผ่านพัดพาเอาความเจริญเข้ามาถึงในบ้านสวนแล้ว แต่ชีวิตประจำวันของคนที่นี่ก็ยังคงผูกพันอย่างลึกซึ้งกับแม่น้ำลำคลองเหมือนเช่น 30-40 ปีก่อนโน้นอยู่เช่นเดิม

ในบ้านหนึ่งๆ ก็จะมีอย่างน้อย 2 เชื้อสายแล้วที่เข้ามารวมกัน ซึ่งในแต่ละสายก็จะต้องมีต้นตระกูลของตัวเอง ดังนั้นวันปีใหม่แบบนี้ สำหรับพวกเราอย่างน้อยๆ ก็ต้องไปไหว้กันสองที่แหละ คือไปไหว้ตาทวดของเอแคลร์ที่เป็นทางฝ่ายคุณย่าเอแคลร์ที่นครชัยศรีก่อน แล้วจากนั้นก็เลยไปไหว้ย่าทวดของเอแคลร์ที่เป็นฝ่ายทางคุณปู่เอแคลร์ที่ดำเนินสะดวกต่ออีกที พวกเราเลยต้องออกเดินทางกันแต่เช้ามืดเพื่อไปไหว้ให้ทันทั้งสองที่

 
พี่น้องรุ่นนี้ 3 คนอายุรวมกันเกิน 200 ปีแล้วเนี่ย .. นี่ยังถ่ายมาไม่ครบนะ .. ยังแข็งแรงกันทุกคน / จุดประทัดให้เสียงดังๆ จะได้มีชื่อเสียงโด่งดังขจรไกล เป็นที่นับถือนิยมชมชอบ (หรือเปล่าก็ไม่รู้ .. อันนี้ผมเดาเอาเองอ่ะ ..)

 
อิ่มกันแล้ว .. เลยชวนน้องเอแคลร์ไปเดินเล่นย่อยอาหารกันในสวน .. / แดดร้อนนะ .. แต่ไม่อบอ้าว เพราะต้นไม้ใหญ่เยอะแยะ มีร่องสวน มีน้ำ มีคลอง สมัยนี้คงต้องไปเสียเงินเข้าพักแพงๆ ตามรีสอร์ทที่พยายามจัดแต่งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้ลูกค้าได้ซึมซับบรรยากาศแบบนี้ แต่พวกเราโชคดีที่ไม่ต้องซื้อหาแต่อย่างใดเหมือนที่ใครๆ ต่างโหยหากันในปัจจุบัน / ต้นมะพร้าวสูงใหญ่ ทั้งสวนมีหลายต้น อีกหนึ่งในผลผลิตที่ไม่ต้องการดูแลอะไรมากมาย แต่มีให้ขายได้ตลอด

เอแคลร์โชคดีที่ยังโตขึ้นมาทันก่อนย่าทวดจะเสียไป ยังได้อยู่กับย่าทวดจนอายุได้ 4-5 ขวบเลยยังจำย่าทวดได้ ตอนเอแคลร์เกิด ย่าทวดก็ 80 กว่าแล้วแต่ยังแข็งแรงดี ไม่หลงไม่ลืม ยังอ่านหนังสือพิมพ์ได้รู้เรื่อง ยังได้ช่วยเลี้ยงเอแคลร์ตอนเล็กๆ อยู่เลย ตอนนั้นเอแคลร์ยังเพิ่งจะหัดคลาน ย่าทวดยังบอกเลยว่าคลานเร็วจริงๆ ตามไม่ทัน จนย่าทวดมาเสียไปเมื่อซัก 3-4 ปีที่แล้วนี่เอง พอตรุษจีนทีนึงก็ได้กลับไปไหว้ย่าทวดกันพร้อมหน้าพร้อมตาที่ดำเนินฯ ส่วนไปทำบุญกระดูกที่วัดโชติฯ ก็ไปกันทุกปีอยู่แล้ว

 
บ่ายๆ ก็ลงมานั่งคุย นั่งเล่นที่ศาลาริมน้ำแบบนี้ ที่นี่จะมีศาลาแบบนี้กันแทบทุกบ้านอยู่แล้ว เดี๋ยวๆ ก็มีเรือผ่านมาขายของกินให้ได้ซื้อกินเพลินๆ ทั้งวัน / จะออกไปไหนก็เอาเรือลง แล้วพายไปเองไม่ต้องเปลืองน้ำมัน เด็กบ้านสวนต้องพายเรือกับว่ายน้ำเป็นกันทุกคนอยู่แล้ว จะมีแถมเพิ่มมาก็ปีนต้นมะม่วง ยิงหนังสติ๊ก ดีดลูกหิน ทอยตุ๊กตุ่น ตกปลาและอื่นๆ ก็ตามความถนัดเพิ่มเติมของแต่ละคน

เด็กรุ่นเดียวกับน้องเอแคลร์นี่ยังไม่เคยได้สัมผัสบรรยากาศแบบเด็กชาวสวน ความสนุกแบบบ้านๆ ที่เด็กๆ ไม่ว่าที่ไหนก็เข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็น วิ่งเล่นตะลุยไปตามสวน ปีนต้นไม้ เตะต้นกล้วย จับจักจั่น หน้าน้ำท่วมก็ลงมาวิดปลาไล่จับกันสนุกสนานเลอะเทอะเปรอะเปื้อนโคลนดินกันไปตามประสา ซึมซับกลิ่นอายของวิถีชนบทกล่อมเกลาจิตใจให้อ่อนโยน รู้สึกติดดินใกล้ชิดกับธรรมชาติ ผมถึงพยายามพาน้องเอแคลร์ไปทุกครั้งที่มีโอกาส

 
เวลาเดินช้า ชีวิตแบบสบายๆ ไม่ต้องเร่งรีบให้ร้อนอกร้อนใจ ไปเก็บเกี่ยวความอบอุ่นในหมู่ญาติพี่น้อง / ปลีกล้วย .. ไม่ได้เห็นมานานแล้ว ตั้งแต่เข้ามาอยู่ในเมือง อยากกินก็ไปหาในห้าง .. สะดวกซื้อ สบายจ่าย ..

จริงๆ แล้วไม่มีอะไรหรอก แค่พอเห็นรูปตอนไปตรุษจีน ก็เลยคิดถึงย่าทวด (ของเอแคลร์ แต่เป็นย่าของป๊ะป๋าว่ะ) ขึ้นมา ย่าทวดเลี้ยงเด็กในครอบครัวนี้มา 3 รุ่นเลยตั้งแต่รุ่นพ่อของป๊ะป๋า(ลูก) จนมาถึงรุ่นป๊ะป๋า(หลาน) แล้วยังได้เลี้ยงน้องเอแคลร์(เหลน)อีกด้วย

พวกเรายังคิดถึงย่าอยู่เสมอนะครับ ..

 

เขียนเมื่อ : วันจันทร์ที่ 3 กันยายน พ.ศ.2555 เวลา 19:05 น. GMT+7 THAILAND
ผู้เขียน : Tombass

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น