วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

20130921 เลาะเลียบเจ้าพระยา .. จากท่าเตียนสู่ท่าพระอาทิตย์ ..



กลับมาเขียนเอนทรี่นี้ตามสัญญา หลังจากเอนทรี่ก่อนพาไปค้นหาตัวตนของคนไทยในมิวเซียมสยาม เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ได้พบเจอตัวตนที่แท้จริงของเพื่อนๆ กันบ้างหรือเปล่า? หากใครยังไม่แน่ใจในตัวตนวันนี้ลองตามผมมาเดินเลาะเลียบริมฝั่งเจ้าพระยา ให้รองเท้าคู่เก่าพาสองเท้าออกย่ำไปบนเส้นทางสายอดีตของเกาะรัตนโกสินทร์กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือสายน้ำแห่งชีวิตเส้นนี้ก็ยังคงทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งสองฟากฝั่งอยู่มิรู้วาย แม่เจ้าพระยาคงได้แต่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของชีวิตความเป็นอยู่ที่ถูกกลืนกินโดยลัทธิทุนนิยมจนหลงลืมวิถีดั้งเดิม เธอคงได้แต่เสียใจอยู่อย่างเงียบๆ ไร้หนทางต่อสู้ ไร้ซึ่งปากเสียงที่จะร้องขอ หรือจะได้แต่รอให้จิตสำนึกรักษ์น้ำรักษ์เจ้าพระยาค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาในใจ หรือรอให้ใครสักคนสักกลุ่มที่จะออกมาปกป้อง อย่าให้ถึงวันที่แม่น้ำเจ้าพระยาตายจากเราไปเสียก่อนที่คนรุ่นหลังจะได้เห็นความงดงามอุดมสมบูรณ์ของแม่แห่งสายน้ำเส้นนี้เสียล่ะ

เอาล่ะ .. หลังจากบ่นๆๆๆ เรื่องความมักง่าย ไร้ระเบียบวินัย ไร้จืตสำนึกในการอนุรักษ์ไปเสียหนึ่งย่อหน้า ผมก็ขอพาเพื่อนๆ กลับมาสู่เรื่องราวที่จะนำเสนอในเอนทรี่นี้กันบ้าง

(ซ้าย)มัคคุเทศก์กิติมศักดิ์ของพวกเราครับ ..

เรื่องราวเล็กๆ ของชีวิตความเป็นอยู่และทำมาค้าขายตลอดสองฝั่งข้างทางทั้งเลียบแม่น้ำและริมแม่น้ำ เรื่องมันเริ่มจากตอนที่ออกมาจากมิวเซียมสยามในเอนทรี่ก่อน ก็ได้ลองเดินเรื่อยเปื่อยตามทาง ออกไปสู่บริเวณท่าเตียนโดยมีเพื่อนร่วมก๊วนที่เป็นเจ้าถิ่นย่านนี้เพราะเป็นศิษย์เก่าลูกแม่โดมอาสาเป็นมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์ให้ เพราะถ้าปล่อยให้ผมเดินเองละก็ค่ำนี้ก็คงไม่ถึงจุดหมายปลายทางเป็นแน่ โดยเฉพาะอากาศตอนเที่ยงๆ ที่ร้อนเอาการเช่นนี้เลยต้องพากันหาอะไรที่โบราณๆ ดื่มแก้กระหายกันสักหน่อยให้สมกับที่ได้มาเดินทัศนาจรในเส้นทางสายประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เชียวนะ ร้านรวงทั้งในตึกเก่าริมถนนรวมไปถึงร้านค้าริมทางเท้าก็เริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลาอาหารกลางวันมาถึง แต่พวกเรายังไม่หิวเท่าไรนักเลยยังคงเดินดุ่มๆ กันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อพร้อมกับกาแฟโบราณคนละแก้วให้ดูดเล่นไปตลอดทาง

 
(ซ้าย) ร้านขายอาหารริมทาง .. / (ขวา) แมวน้อยของใครเดินมาคลอเคลียอยู่ใกล้ๆ .. เดี๋ยวก็แอบหิ้วกลับบ้านซะเลย ..

เพื่อนๆ เคยนึกสงสัยกันไหมว่าทำไมแถวนี้เค้าถึงเรียกกันว่า “ท่าเตียน” ..???

ตำนานเรื่องแรกที่ผมได้ยินตั้งแต่ตอนเด็กๆ มีคนเฒ่าคนแก่เค้าเล่าต่อๆ กันมาว่า เหตุมันเกิดจากยักษ์วัดแจ้ง(วัดอรุณฯ) ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามมาตีกับยักษ์วัดโพธิ์ (บร๊ะเจ้า ..  การยกพวกตีกันนี่มันมีมาตั้งแต่สมัยโน้นเลยแฮะ สงสัยยีนด้อยชอบความก้าวร้าวที่ถ่ายทอดต่อกันมาเพิ่งจะมาแสดงผลชัดเจนกันในเจเนอเรชั่นปัจจุบันนี้ ..) ทั้งสองฝ่ายเข้าตะลุมบอนกันจนฝุ่นตลบ บ้านเรือนแถบนั้นพังยับราบเป็นหน้ากลอง ชาวบ้านเลยเรียกว่า “ท่าเตียน” กันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งอันนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องนิยายปรัมปราไปสักหน่อย ผมเลยต้องไปค้นประวัติความเป็นมาแบบเป็นทางการสักนิดจนได้ข้อสันนิษฐาน (อุ๊ย .. ใช้คำได้ทันสมัยซะด้วยสิเรา .. 555+) เป็นสองแนวทางดังนี้

 
(ซ้าย) อาหารทะเลตากแห้งมีขายเยอะจริงๆ .. / (ขวา) ร้านส้มตำอินเตอร์นะจ๊ะ .. เมนูภาษาอังกฤษซะด้วย ร้านค้าร้านอาหารแถวนี้แทบทุกร้านส่งภาษาอังกฤษฟุดฟิดฟอไฟกับชาวต่างชาติได้สบายๆ ..

ข้อสันนิษฐานแรก มีว่า ..

“ …เพลิงไหม้เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 1 เวลายามเศษ ไฟไหม้เสียหายจำนวนมาก เป็นเรือนหม่อมเจ้าในกรมสุรินทร์รักษ์ (กรมหมื่นสุรินทรรักษ พระนามเดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา) 28 หลัง โรงพระองค์เจ้ามหาหงส์ (พระองค์เจ้ามหาหงษ พระนามเดิม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามหาหงษโสภาค ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ) 3 หลัง เรือน 13 หลัง เรือนข้าราชการและราษฎร 44 หลัง ศาลาวัดสองหลังครึ่ง โรงงานของในหลวง 1 โรง ประตูท่าช้างล่าง ตัวไม้ในโรงเรือนที่จะใช้สร้างวังและพระอารามหลวงกว่าร้อยต้น.. ”
          เพลิงไหม้ในครั้งนั้นกินเนื้อที่กว้างขวางมาก เป็นเหตุให้บริเวณนั้นราบเรียบเตียนโล่งผิดตาจากเดิม จนคนทั่วไปใช้เป็นที่หมายเรียกลักษณะเด่นของบริเวณนั้นว่า “ท่าเตียน”

อืมมม .. อันนี้ดูจะเข้าเค้าเหมือนกันแฮะ .. ลองมาดูอีกแนวทางหนึ่งกันบ้าง

…มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ฮาเตียน” ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งในประเทศญวน ชาวญวนได้อพยพเข้ามาตั้งฐานพำนักในประเทศไทยหลายครั้งหลายหน และกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพระนครและธนบุรี มีชาวญวนบางคนซึ่งเห็นภูมิประเทศบริเวณนี้คล้ายคลึงกับภูมิประเทศส่วนหนึ่งของเมืองฮาเตียนที่เคยอยู่อาศัยจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “ฮาเตียน” เพื่อให้คลายความคิดถึงถิ่นฐานที่เคยอยู่ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยว่า “ท่าเตียน” อาจกล่าวได้ว่าบ้านญวนแห่งแรกบนเกาะรัตนโกสินทร์คือบ้านญวนในแถบท่าเตียนถึงพาหุรัด เรียกว่าญวนฮาเตียนหรือท่าเตียนในปัจจุบันนั่นเอง

นี่ก็มีความเป็นไปได้อยู่พอสมควร .. อันนี้ก็แล้วแต่เพื่อนๆ จะเลือกแนวทางไหนก็แล้วกันนะครับ

[ที่มาของข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์, ห้องสมุดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยศิลปากร. ไม่ทราบปี. “ชุมชนท่าเตียน.” [ระบบออนไลน์]. http://www.lib.su.ac.th/rattanagosin_web/?q=node/241 (18ธันวาคม 2558). ]

 
(ซ้าย) ระหว่างทางลงไปท่าพระจันทร์ ..  / (ขวา) วัตถุมงคล ของที่ระลึก เสื้อผ้า ฯลฯ วางเรียงรายดูละลานตารอนักท่องเที่ยว ..



(ซ้าย) ถนนแห่งศรัทธา / (ขวา) พี่เค้ากำลังได้อารมณ์เลย ..

จากท่าเตียนคราวนี้ก็มาถึงท่าช้าง-วังหลังกันบ้าง ท่าเรือนี้อยู่สุดถนนที่คั่นกลางระหว่างวัดพระแก้วกับสนามหลวง(ถนนหน้าพระลาน) ย่านนี้ของกินเยอะแยะเป็นที่ฝากท้องของผมในอดีตเมื่อสิบห้าปีก่อนครั้งที่ยังมาเรียนเขียนเวบไซต์ที่ม.ศิลปากร(วังท่าพระ) ขอยืนยันตรงนี้เลยว่าอาหารอร่อยๆ มีให้เลือกกินกันไม่หวาดไม่ไหวชนิดที่ว่าตอนเข้ามาเรียนหุ่นเพรียวอยู่ดีๆ แต่พอจบออกไปอีกทีพุงปลิ้นหน้ากลายเป็นกะละมังซะหยั่งงั้น แต่ไม่ได้ไปซะนานไม่รู้ว่าร้านเก่าแก่ดั้งเดิมจะยังคงอยู่ดีกันหรือเปล่า หรือว่ามีล้มหายตายจากกันไปบ้างแล้ว

วันนี้ไม่ได้แวะเยี่ยมเยือนท่าช้างฯ เพราะหัวหน้าก๊วนพาพวกเราเดินผ่านถนนมหาราชเลี้ยวทะลุไปข้างวัดมหาธาตุที่เป็นแหล่งรวมของอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม พระพุทธรูป พระเครื่อง เครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลอื่นๆ ที่คุณจะหาเช่ากันได้ตลอดทั้งสองฝั่งของถนนแคบๆ เส้นนี้ ตาดีได้ตาร้ายเสียเพราะมีทั้งจริงที่มีตำนานเล่าขานมายาวนานรองรับหรือมีทั้งแบบจำลองขึ้นใหม่เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกกับชาวต่างชาติก็เยอะ ซึ่งบางครั้งก็ทำเลียนแบบได้เหมือนมากและก็เหมือนมากเสียจนแทบจะแยกแยะกันไม่ออกอยู่แล้ว ผมก็ได้แต่เดินๆ ดูไปเรื่อยๆ กดชัตเตอร์ซ้ายทีขวาทีไปตลอดทาง


ศาสนา .. นำพาให้ได้มาเจอกัน .. ศรัทธาใช่ว่าจะดูกันแค่เปลือกนอก ..

แล้วก็มาถึงท่าพระจันทร์จนได้ ต้องขอบคุณมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์ของพวกเราที่พาเดินเลาะเลี้ยวไปมาจนโผล่ที่หน้าประตูของม.ธรรมศาสตร์ วันนี้ก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสักครั้ง สิ่งแรกที่มองหาคือยอดโดมอันเป็นแลนด์มาร์กที่โด่งดังของที่นี่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ โดยมีชื่อเรียกกันจนติดปากว่า “เสือเหลือง-สิงห์แดง” ซึ่งหมายถึงคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ของม.ธรรมศาสตร์นั่นเอง (ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/คณะนิติศาสตร์_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )

 
(ซ้าย) ยอดโดมที่เป็นสัญลักษณ์ของม.ธรรมศาสตร์ .. / (ขวา) มุมนี้มองจากแถวๆ ลานปรีดี พนมยงค์ ..

(ซ้าย) อนุสาวรีย์พ่อปรีดีของชาวธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่หน้าแม่โดม ..

เราลองมาอ่านประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันพอสังเขปนะครับ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นจากการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายใน พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่ครั้งมีพระยศที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียนอันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระนั้นก็ได้มีแจ้งความของโรงเรียนเกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายนั้นได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการย้ายไปทำการเรียนการสอนยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม (อ่านต่อ)

นั่งพักดื่มน้ำดื่มท่าสอดส่ายสายตาไปรอบๆ มิได้มีเจตนาแอบแฝงอันใดดอก เพียงเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือนเลยต้องทำตัวเสมือนกล้องซีซีทีวีหมุนซ้ายทีขวาทีเพื่อเก็บบันทึกภาพสวยๆ ดีๆ เอามาเป็นวัตถุดิบใช้เล่าเรื่องในเอนทรีนี้ยังไงล่ะ(ดูๆๆ .. ข้ออ้างฟังขึ้นเชียวเนอะ ..ฮ่าๆๆ) ..


ฝั่งตรงข้ามลานปรีดีฯ เป็นโรงพยาบาลศิริราช ..


(ซ้าย) สาบานได้ว่าผมจะถ่ายร้านค้าข้างหลังโน่น ที่ผมนึกว่าเป็นร้านก๋วยจั๊บชื่อดังแห่งย่านถนนพระอาทิตย์ แต่กล้องมันโฟกัสพลาดเองน่ะครับ .. จริงจริ๊งงงง (เสียงสูงปรี๊ดดด) ..

หลังจากคลายร้อนจากอากาศอบอ้าวช่วงกลางวัน ก็ได้เวลากันสักที บ่ายๆ อย่างนี้ก็พากันเดินเลาะเรียบผ่านโรงเรียนนาฏศิลป์ที่เค้าร่ำลือว่าสาวๆ สวยยิ่งนักเพื่อใช้เป็นทางผ่านทะลุออกไปลอดใต้สะพานปิ่นเกล้าฝั่งพระนครเข้าสู่ถนนพระอาทิตย์ ไปปิดทริปนี้กันที่สวนสันติชัยปราการที่ตั้งอยู่บริเวณโค้งป้อมพระสุเมรุนั่นแหละครับ ระหว่างทางผ่านร้านก๋วยจั๊บญวนชื่อดังที่อร่อยจนหลายคนต้องมาจัดสักมื้อทั้งรายการทีวี เวบไซต์ บล็อกเกอร์ เฟซบุ๊คเพจพากันรีวิวไม่ขาด แม้กระทั่งเพจ/บล็อคส่วนตัวก็ยังยอมลงทุนเสียตังค์มากินเองเพื่อถ่ายรูปทำรีวิวเพราะมันอร่อยคุ้มจริงๆ พลาดไปล่ะเสียดายแย่ (ผมไม่ได้บอกชื่อร้านเพราะไม่ได้มาโฆษณา ถ้าใครอยากรู้ให้อากู๋ช่วยเสิร์ช รับรองเจอได้ไม่ยากไม่เย็นแน่นอน ..)


อ๋อ .. ร้านเค้าอยู่ตรงนี้นี่เอง ..


พระที่นั่งสันติชัยปราการ ศาลาไทยหลังคาจัตุรมุข เป็นเครื่องไม้ทั้งหมด ที่หน้าบันมีลวดลายแกะสลัก ประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ..

สวนสันติชัยปราการในตอนบ่ายแก่ๆ แบบนี้ยังไม่มีใครมาใช้บริการสักเท่าไร คงมีแต่พวกเราและคู่รักวัยรุ่นอีกคู่ที่กำลังแอ็คท่าถ่ายรูปกันกระหนุงกระหนิง ส่วนพวกเรามีแต่ชายหนุ่มบึกบึนถึกแกร่งทนทุกสภาวะแบกกระเป๋ากล้องใบเบ้อเริ่มพร้อมกับขาตั้งกล้องยาวครึ่งเมตรอีกคนละอันดูพะรุงพะรังดีพิลึก จะถ่ายพวกเดียวกันเองให้เปลืองชัตเตอร์เค้าท์เล่นๆ ก็กระไรอยู่ กล้องคู่ใจคงจะทำหน้ายี้ไม่อยากเก็บภาพหนุ่มโฉดแต่ละนายไว้ในกล้องให้เสียเซลฟ์ เลยหันไปถ่ายศาลา ถ่ายต้นไม้ ถ่ายแม่น้ำ ถ่ายตึกรามบ้านช่องไร้สาระไปตามเรื่องจนสมควรแก่เวลาจึงพากันแยกย้าย ขากลับเลยได้มีโอกาสใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาจากท่าพระอาทิตย์ไปลงท่าเตียน เพื่อต่อรถโดยสารประจำทางปรับอากาศกลับบ้าน นั่งหลับๆ ตื่นๆ ไปสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงแถวๆ บ้าน ยังต้องต่อรถอีกสองต่อเล่นเอาสะบักสะบอมกว่าจะเข้าบ้านได้ก็มืดตึ๊อตื๋อ เปิดประตูเข้ามาก็เจอข่าวในพระราชสำนักกำลังออกอากาศอยู่พอดี

  
(ซ้าย) เส้นทางเดินเข้าสู่พระที่นั่ง .. / (กลาง) จากใต้ร่มเงาแห่งความความร่มเย็น .. / (ขวา) ตระหง่านง้ำค้ำฟ้าท้าทายแสงจ้าแห่งดวงตะวัน ..

สรุปทริปนี้ได้พารองเท้าคู่เก่าออกก้าวเดินย่ำไปในเส้นทางสายอดีตแห่งเกาะรัตนโกสินทร์สมใจอยาก ได้ทดสอบสมรรถภาพความอดทนของร่างกายไปในตัวอีกด้วย แต่สิ่งที่ได้กลับมาหาใช่ภาพถ่ายที่สวยงามเลิศเลออะไรไม่ ความรู้สึกและสำนึกตระหนักถึงเรื่องราวมากมายจากอดีตที่หลายคนหลงลืมไปต่างหากล่ะ ที่ยังตราตรึงฝังรากลึกลงไปในเซลล์สมอง บันทึกเอาความทรงจำอันน่าประทับใจไว้ให้ได้ซาบซึ้งถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมแห่งสยามประเทศที่ถูกความเปลี่ยนแปลงแห่งทุนนิยมมาพรากชุมชนดั้งเดิมไปเลือนหายไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง

เอนทรี่นี้ผมทำตัวเป็นเด็กดีมีสาระเผื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้าง ต้องขอขอบคุณที่ติดตามอ่านกันจนจบนะครับ ..

ภาพของทริปนี้


เขียนโดย : นายเมษา
เขียนเมื่อ : วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558 เวลา 23:46 น. GMT+7 TH

20130921 ย้อนเวลาหาตัวตนแห่งคนไทย .. ใน “มิวเซียมสยาม” ..


ขอบคุณภาพจาก WikiPedia
ตอนนั้นมีคนชวนไปอบรมถ่ายรูปที่จัดขี้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของวิชาการถ่ายภาพเพื่องานวารสารศาสตร์ ของคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากเข้าอบรมภาคทฤษฎีกันไปแล้วก็ต้องมีภาคปฏิบัติน่ะสินะมันถึงจะครบถ้วน โดยคณะผู้จัดอบรมเลือกเอาบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์เป็นสถานที่ฝึกถ่ายรูป กำหนดการช่วงเช้าทีมงานก็จะพาไปซึมซับกับวิถีไทยในมิวเซียมสยามกันก่อน หลังจากนั้นก็แบ่งผู้เข้าร่วมอบรมออกเป็นกลุ่มย่อยๆ มีหัวข้อให้ไปถ่ายรูปเพื่อเล่าเรื่องราวผ่านภาพถ่ายให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ของการอบรมในครั้งนี้ พอตกเย็นก็ตัวใครตัวมัน และมีเวลาอีกประมาณสองสัปดาห์ในการส่งภาพเพื่อนำมาจัดแสดงนิทรรศการบริเวณบอร์ดประชาสัมพันธ์ของคณะสื่อสารมวลชนที่อาคารสุโขทัย ชั้น 10 ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก
วันนั้นผมตื่นแต่เช้าเพื่อไปเจอกับทีมงานตามเวลานัดหมาย แต่การจราจรในเช้าวันเสาร์ดูจะไม่ได้แตกต่างจากวันทำงานปกติสักเท่าไร กว่าจะดั้นด้นจากบางกะปิไปถึงสนามหลวงก็เล่นเอาหลับสลับตื่นกันไปหลายต่อหลายรอบ พอเลี้ยวผ่านจากถนนราชดำเนินกลางมาได้รถประจำทางปรับอากาศสาย ปอ.60 ก็มาจอดที่ข้างสนามหลวง พนักงานเก็บค่าโดยสารตะโกนบอกมาไกลๆ ว่าสนามหลวงให้ลงป้ายนี้ ผมนี่คว้ากระเป๋ากล้องพร้อมขาตั้งรีบกระโดดลงแทบจะไม่ทัน มองซ้ายมองขวาเลิ่กลั่กไม่เห็นมิวเซียมสยามที่ว่านั่นเลยสักนิด เห็นแต่ช้างสามเศียรยืนที่สามแยกหัวมุมวัดพระแก้วตรงข้ามกับศาลหลักเมืองอยู่ไกลลิบๆ งานนี้เห็นทีไม่แคล้วตรูจะต้องเดินทางไกลแบบวิชาลูกเสือสามัญที่เรียนกันตอนมัธยมเป็นแน่แท้ อีกไม่กี่นาทีก็จะถึงเวลาที่นัดหมายกันแล้ว ผมยังไม่มีวี่แววจะไปถึงมิวเซียมสยามเลยสักนิด คิดได้ดังนั้นแล้วก็พลันรีบออกเดินมุ่งหน้าไปทางศาลหลักเมืองนั่นแหละแล้วค่อยไปถามพ่อค้าแม่ขายแถวๆ นั้นอีกที

เธอคนนนี้มาพร้อมกับแฟนหนุ่ม .. เลยแอบขอยืมตัวมาเป็นแบบสักหน่อย ..
ระหว่างที่เดินเลาะเรียบริมถนนไปได้สักสิบก้าว ก็เห็นชาวต่างชาติกำลังโยนอาหารให้นกพิราบอยู่ แสงเงาที่ลอดช่องว่างระหว่างต้นไม้มาตกกระทบตัวแบบ พร้อมกับฝูงนกที่บินโฉบกินอาหารกันพรึ่บพรับ สองมือของผมก็เปิดกระเป๋าโดยอัตโนมัติหยิบกล้องออกมาส่องผ่านวิวไฟน์เดอร์ ขยับซ้าย-ขวา หน้า-หลังหามุมที่ถูกใจ หมุนวงแหวนโฟกัสให้ชัดที่ตัวแบบ หรี่รูรับแสงแคบสักนิดเพื่อเผื่อระยะชัดให้ครอบคลุม กดปุ่มเช็คระยะชัดลึกดูสักหน่อย จากนั้นนั่งชันเข่าย่อตัวเตรียมพร้อมรอจังหวะ และในไม่กี่อึดใจเสียงชัตเตอร์ก็ลั่นออกไปเป็นชุดราวกับปืนกล แหมๆๆ เพื่อความชัวร์มันต้องยิงเผื่อเอาไว้กันพลาดสักนิดสิ จะได้มีไว้เลือกหลายๆ ภาพหน่อยน่ะ
ได้มาแล้วหนึ่งภาพแรกสำหรับวันนี้ ดูจะเป็นการเริ่มต้นที่ดีแต่เส้นทางนี้ยังอีกยาวไกลนัก เพราะแม่ค้าที่หน้าศาลหลักเมืองบอกว่า มิวเซียมสยามนะเหรอ เดินตรงไปสุดทางโน่นพร้อมชี้มือบอกทิศทาง ไกลแค่ไหนผมไม่รู้หรอกแต่หน้าของเธอที่ทำปากจู๋กับท่าทางชี้โบ๊ชี้เบ๊ของเธอที่ตั้งใจบอกผมนั้นมันดูใสซื่อจริงใจ สื่อให้ผมรู้สึกได้เลยว่า เออ .. มันอยู่ไกลจากตรงนี้อีกเยอะจริงๆ นะ เลยอุดหนุนน้ำเปล่าเธอมาขวดนึงเพื่อเอาไว้เรียกความสดชื่นยามที่ต้องเสียน้ำในร่างกายกับระยะทางที่แสนไกล
ผมเดินไปบนทางเท้ากว้างขวางผ่านหน้ากระทรวงกลาโหมที่มีปืนใหญ่หลายกระบอกตั้งเรียงรายอยู่ในสนามหญ้าติดทางเท้า นี่ถ้าผมไม่มีนัดคงได้แวะเข้าไปจัดรูปปืนใหญ่ใกล้ๆ ด้วยเลนส์มุมกว้างเอาตึกสีเหลืองอ่อนของกระทรวงกลาโหมเป็นฉากหลังที่หลายๆ คนชอบมาเก็บภาพกันจนกลายเป็นมุมมหาชนอีกมุมหนึ่งไปแล้ว แต่วันนี้ได้แต่คำรามฮึ่มๆ ในลำคอว่าฝากเอาไว้ก่อนเถอะ วันข้างหน้าข้าจะมาเอาคืน เพราะวันนี้คงต้องเดินกันอีกไกลและอาจจะต้องเดินกันอีกทั้งวันด้วยแน่ๆ
เดินเรื่อยๆ แต่เล่นเอาเหงื่อโทรมเหมือนกันนะ ผ่านกรมรักษาดินแดนที่ครั้งหนึ่งในอดีตผมเคยมาสมัครเป็นกำลังพลสำรองของกองทัพในช่วงเรียนมัธยมปลาย เรียกกันแบบชาวบ้านๆ ก็คือเรียน รด.นั่นแหละครับ ต้องมาสมัครกันที่นี่แหละครับ เรียนจบสามปีก็มารับสมุดเล่มเล็กๆ สีเขียว หรือ สด.9 ก็ที่นี่อีกเหมือนกัน ผ่านช่วงรด.หัวเกรียนมาได้แบบทุลักทุเลแต่ก็ประทับใจสุดๆ เหมือนกัน ขนาดว่าวันเวลาผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปี แต่พอหลับตานึกถึงเมื่อไหร่ภาพเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้นมันก็ผุดขึ้นมาให้เห็นชัดเจนเป็นฉากๆ เลยทีเดียว เอาไว้ถ้ามีโอกาสวันหลังจะมาเล่าให้ฟังในบล็อคก็แล้วกัน
 
ป้อมอะไรผมไม่ทันสังเกตชื่อ .. มัวแต่ก้มหน้าก้มตาเดินๆๆๆๆ .. เพราะเริ่มร้อนขึ้นเรื่อยๆ แล้ว ..
มาเรื่องของเรากันต่อดีกว่า ถึงสวนเจ้าเชตุก็ข้ามถนนไปเดินฝั่งวัดโพธิ์กันดีกว่า เพราะต้องเดินเลาะกำแพงวัดโพธิ์นี่แหละไปจนสุดทาง แล้วเดินต่อไปอีก(ไม่)นิด(ล่ะ เพราะเล่นเอาน้ำที่ซื้อมาหมดขวดกันเลย .. - -!)ก็จะถึงมิวเซียมสยามกันเสียที ถ้าเดินเลยไปอีกนิดเดียวก็ปากคลองตลาดแล้วล่ะนะ หรือเพราะว่าผมเดินเยอะมากนับดูแล้วก็หลายกิโลเมตรอยู่นะ เหนื่อยจนไม่อยากถ่ายรูปอะไรระหว่างทางเลย ช่วงแรกๆ ก็ยังสะพายกล้องอยู่ พอหลังๆ เก็บกล้องเข้ากระเป๋า ก้มหน้าก้มตาเดินๆๆๆๆ อยากจะให้ถึงเร็วๆ อยากนั่ง อยากพักตากแอร์เย็นๆ เป็นที่สุด เหนื่อยนะขอบอก เดินคนเดียวกลางแดดยามเช้าที่แสนจะอบอุ่น แต่ดูเหมือนจะอุ่นมากไปหน่อยนะ (อุ่น+ๆ+ๆ+ๆ+ๆ+ๆ+ๆ+ๆ = ร้อน .. โฮกกกกก ..) ไปถึงก็ไม่เจอใครแล้ว เพราะกว่าผมจะเดินมาถึงก็เลยเวลานัดหมายไปร่วมชั่วโมง ผู้เข้าร่วมอบรมท่านอื่นคงเข้าไปเยี่ยมชมมิวเซียมสยามกันหมดแล้ว ..

ด้านหน้ามิวเซียมสยาม .. กำลังขุดทางเท้าอยู่ .. ดูอุจาดดีแท้ ขุดแล้วก็กลบ แล้วอีกหน่วยงานนึงก็มาขุดใหม่ พอกลบเสร็จ .. ก็จะมีมาขุดๆ กลบๆ เรื่อยไปแบบนี้ ..
ผมตามเข้าไปทีหลังโดยเสียค่าธรรมเนียมเข้าชม 100 บาท ได้บัตรผ่านประตูพร้อมสูจิบัตรแนะนำมิวเซียมสยาม ระบุว่าที่นี่ดูแลโดยสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ ตัวอาคารเป็นตึกเก่าของกระทรวงพาณิชย์ มี 3 ชั้น มีห้องจัดแสดง 17 ห้อง แบ่งเป็น 17 ธีม ในรูปแบบเรียงความประเทศไทย เรียนรู้ผ่านสื่อประสมที่สามารถโต้ตอบกับผู้เข้าชมได้ โดยต้องเดินชมห้องจัดแสดงไปตามลำดับ เริ่มจากชั้น 1 ไปชั้น 3 แล้วลงมาต่อที่ชั้น 2 ซึ่งมีรายละเอียดของการจัดแสดงดังนี้

ชั้นที่ 1

  • ตึกเก่าเล่าเรื่อง ห้องจัดแสดงความเป็นมาของอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิม การบูรณะซ่อมแซม รวมถึงการกลายเป็นมิวเซียมสยามในปัจจุบัน
  • เบิกโรง (Immersive Theater) ห้องฉายภาพยนตร์สั้นเพื่อนำเข้าสู่การชมมิวเซียมสยาม ผ่านตัวละครต่าง ๆ
  • ไทยแท้ (Typically Thai) ห้องแสดงวัฒนธรรม เอกลักษณ์ของไทย พร้อมการไขว่าแท้ที่จริงแล้วสิ่งเหล่านี้เป็นของไทยแท้หรือไม่

ชั้นที่ 3

  • เปิดตำนานสุวรรณภูมิ (Introduction to Suvarnabhumi) ห้องจัดแสดงที่ตั้งของดินแดนที่เรียกว่าสุวรรณภูมิ ชาติพันธุ์ในดินแดนนี้ และวิธีการขุดค้นหลักฐานทางประวัติศาสตร์
  • สุวรรณภูมิ(Suvarnabhumi) ห้องจัดแสดงความเป็นอยู่ของผู้คนในสุวรรณภูมิ การติดต่อกับต่างประเทศ และหลักฐานประวัติศาสตร์สุวรรณภูมิ
  • พุทธิปัญญา (Buddhism) ห้องแสดงหัวใจพระพุทธศาสนาและเรื่องราวที่แสดงถึงสัจจธรรม
  • กำเนิดสยามประเทศ (Founding of Ayutthaya) ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นมาอาณาจักรต่าง ๆ ในดินแดนสยาม และตำนานต้นกำเนิดกรุงศรีอยุธยา
  • สยามประเทศ (Siam) ห้องแสดงเรื่องราวความเป็นอยู่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และรูปจำลองเรือแบบต่าง ๆ ตั้งแต่เรือพื้นบ้านถึงเรือพระราชพิธี
  • สยามยุทธ์ (War Room) ห้องแสดงรูปแบบการรบ กำลังพล และการทำสงครามในสมัยอยุธยา

ชั้นที่ 2

  • แผนที่ ความยอกย้อนบนแผ่นกระดาษ (Map Room) ห้องแสดงแผนที่ประเทศไทยในสมัยต่าง ๆ
  • กรุงเทพฯ ภายใต้ฉากอยุธยา (Bangkok, New Ayutthaya) ห้องแสดงเรื่องราวเมื่อสิ้นกรุงศรีอยุธยา เริ่มตั้งกรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ การอพยพของคนชาติต่าง ๆ ในสยาม และการเปรียบเทียบว่ากรุงรัตนโกสินทร์เหมือนกับกรุงศรีอยุธยาอย่างไร
  • ชีวิตนอกกรุงเทพฯ (Village Life) ห้องแสดงวิถีชีวิตของคนในชนบทนอกกรุงเทพฯ โดยมีเรื่องข้าวเป็นหลัก
  • แปลงโฉมสยามประเทศ (Change) ห้องแสดงการเปลี่ยนแปลงสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 และเรื่องราวของถนนเจริญกรุง
  • กำเนิดประเทศไทย (Politics & Communications) ห้องแสดงเรื่องราวในสมัยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย
  • สีสันตะวันตก (Thailand and the World) ห้องแสดงวัฒนธรรมตะวันตกที่เริ่มเข้ามาในประเทศไทย
  • เมืองไทยวันนี้ (Thailand Today) ห้องอุโมงค์กระจกขนาดใหญ่ มีโทรทัศน์ขนาดเล็กรายล้อมทั่วห้อง
  • มองไปข้างหน้า (Thailand Tomorrow) ห้องสำหรับแสดงความคิดเห็นของผู้เข้าชม ด้วยระบบคอมพิวเตอร์แสดงข้อความบนผนัง
คุณสามารถเข้าเยี่ยมชมเวบไซต์อย่างเป็นทางการได้ที่นี่
ส่วนของข้อมูลเพิ่มเติมอ่านได้จากที่นี่
และนี่ก็เป็นพิกัดของมิวเซียมสยามครับ 13.744203, 100.494133
จากตรงนี้ให้ภาพเล่าเรื่องก็แล้วกันนะ ..

อ๊บ อ๊บ .. คนกบแดง ..
 
ถ้าอยากรู้ว่าคืออะไร ..? ต้องไปดูเองครับ ..


ความเป็นอยู่ตามวิถีไทย .. บนดินแดนสุวรรณภูมิ ..
  
ดูกันว่า .. จุดกำเนิดเกิดมาเป็น “ไทย” ได้อย่างไร ..?

หลักคำสอนที่ไม่เคยล้าสมัย ..


หัวใจของพระพุทธศาสนา ..

 
การจัดขบวนเรือพระราชพิธี .. / เรือสำเภาที่เข้ามาค้าขายกับสยามในยุคนั้น ..

สยามยุทธ์ .. สมัยอยุธยาทหารไทยเค้ามีวิธีรบกับศัตรูผู้รุกรานกันอย่างไรนะ ..?
 
ปืนใหญ่น่ะของจริง .. ใส่กระสุนได้ ยิงได้ด้วยนะ .. แต่ระเบิดในจอภาพแบบมัลติมีเดียอินเตอร์แอ็คทีฟ .. ทันสมัยสุดๆ ..

เรื่องราวของแผนที่ .. มาดูโลกในแบบสองมิติกันดูบ้าง ..
 

วิถีชีวิตของชนบท .. เรื่องข้าวเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศชาตินะ ..

ความเปลี่ยนแปลงของสยามประเทศ .. ถนนเจริญกรุงในวันที่ความเจริญเริ่มคืบคลานเข้ามา ..
  
ของใหม่ๆ ทันสมัยจากตะวันตก .. เข้ามายกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยในวันนั้น ..
 
นวัตกรรมใหม่ที่หลั่งไหลเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย .. จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน ..

หนังสือพิมพ์ .. สื่อมวลชนในวันนั้น .. เป็นปาก(ที่ถูกปิดเสียง)ของคนรุ่นใหม่ในวันที่ประชาธิปไตยเริ่มก่อร่างสร้างตัว ..

หนุ่มสาวสมัยใหม่ .. ต้องใช้ชีวิตหรูหรา .. สังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแนวคิด .. ผู้หญิงก็ไม่น้อยหน้าผู้ชายอีกต่อไป ..

ใครมีรถก็มีสาวๆ มานั่งข้างๆ ด้วยเสมอๆ .. ยุคที่เงินตราและบ่อนบาร์รุ่งเรืองถึงขีดสุด ..

ปิดท้ายกันด้วยมุมนี้ .. ประตูอีกด้านหนึ่งของมิวเซียมสยาม ..
วันนี้ยังไม่จบแต่คงต้องขอยกไปเอนทรีหน้า .. เพราะผมจะพาเดินๆๆๆๆๆ .. จากท่าเตียนสู่ท่าพระจันทร์ ชมถนนแห่งศรัทธาที่พุทธศาสนาช่วยสร้างอาชีพให้คนอีกกลุ่ม แล้วไปปิดท้ายกันที่ถนนพระอาทิตย์ยามที่ดวงอาทิตย์ยังสาดแสงที่สวนสันติไชยปราการ ..
ขอบคุณที่ยังติดตามอ่านกันครับ
ภาพจากทริปนี้ครับ

เขียนโดย : นายเมษา
เขียนเมื่อ : วันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2558 เวลา 19:56 น. GMT+7 TH