วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

20130921 เลาะเลียบเจ้าพระยา .. จากท่าเตียนสู่ท่าพระอาทิตย์ ..



กลับมาเขียนเอนทรี่นี้ตามสัญญา หลังจากเอนทรี่ก่อนพาไปค้นหาตัวตนของคนไทยในมิวเซียมสยาม เป็นอย่างไรกันบ้างครับ ได้พบเจอตัวตนที่แท้จริงของเพื่อนๆ กันบ้างหรือเปล่า? หากใครยังไม่แน่ใจในตัวตนวันนี้ลองตามผมมาเดินเลาะเลียบริมฝั่งเจ้าพระยา ให้รองเท้าคู่เก่าพาสองเท้าออกย่ำไปบนเส้นทางสายอดีตของเกาะรัตนโกสินทร์กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลง แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือสายน้ำแห่งชีวิตเส้นนี้ก็ยังคงทำหน้าที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนทั้งสองฟากฝั่งอยู่มิรู้วาย แม่เจ้าพระยาคงได้แต่เฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของชีวิตความเป็นอยู่ที่ถูกกลืนกินโดยลัทธิทุนนิยมจนหลงลืมวิถีดั้งเดิม เธอคงได้แต่เสียใจอยู่อย่างเงียบๆ ไร้หนทางต่อสู้ ไร้ซึ่งปากเสียงที่จะร้องขอ หรือจะได้แต่รอให้จิตสำนึกรักษ์น้ำรักษ์เจ้าพระยาค่อยๆ ก่อตัวขึ้นมาในใจ หรือรอให้ใครสักคนสักกลุ่มที่จะออกมาปกป้อง อย่าให้ถึงวันที่แม่น้ำเจ้าพระยาตายจากเราไปเสียก่อนที่คนรุ่นหลังจะได้เห็นความงดงามอุดมสมบูรณ์ของแม่แห่งสายน้ำเส้นนี้เสียล่ะ

เอาล่ะ .. หลังจากบ่นๆๆๆ เรื่องความมักง่าย ไร้ระเบียบวินัย ไร้จืตสำนึกในการอนุรักษ์ไปเสียหนึ่งย่อหน้า ผมก็ขอพาเพื่อนๆ กลับมาสู่เรื่องราวที่จะนำเสนอในเอนทรี่นี้กันบ้าง

(ซ้าย)มัคคุเทศก์กิติมศักดิ์ของพวกเราครับ ..

เรื่องราวเล็กๆ ของชีวิตความเป็นอยู่และทำมาค้าขายตลอดสองฝั่งข้างทางทั้งเลียบแม่น้ำและริมแม่น้ำ เรื่องมันเริ่มจากตอนที่ออกมาจากมิวเซียมสยามในเอนทรี่ก่อน ก็ได้ลองเดินเรื่อยเปื่อยตามทาง ออกไปสู่บริเวณท่าเตียนโดยมีเพื่อนร่วมก๊วนที่เป็นเจ้าถิ่นย่านนี้เพราะเป็นศิษย์เก่าลูกแม่โดมอาสาเป็นมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์ให้ เพราะถ้าปล่อยให้ผมเดินเองละก็ค่ำนี้ก็คงไม่ถึงจุดหมายปลายทางเป็นแน่ โดยเฉพาะอากาศตอนเที่ยงๆ ที่ร้อนเอาการเช่นนี้เลยต้องพากันหาอะไรที่โบราณๆ ดื่มแก้กระหายกันสักหน่อยให้สมกับที่ได้มาเดินทัศนาจรในเส้นทางสายประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เชียวนะ ร้านรวงทั้งในตึกเก่าริมถนนรวมไปถึงร้านค้าริมทางเท้าก็เริ่มคึกคักขึ้นอีกครั้งเมื่อเวลาอาหารกลางวันมาถึง แต่พวกเรายังไม่หิวเท่าไรนักเลยยังคงเดินดุ่มๆ กันต่อไปอย่างไม่ย่อท้อพร้อมกับกาแฟโบราณคนละแก้วให้ดูดเล่นไปตลอดทาง

 
(ซ้าย) ร้านขายอาหารริมทาง .. / (ขวา) แมวน้อยของใครเดินมาคลอเคลียอยู่ใกล้ๆ .. เดี๋ยวก็แอบหิ้วกลับบ้านซะเลย ..

เพื่อนๆ เคยนึกสงสัยกันไหมว่าทำไมแถวนี้เค้าถึงเรียกกันว่า “ท่าเตียน” ..???

ตำนานเรื่องแรกที่ผมได้ยินตั้งแต่ตอนเด็กๆ มีคนเฒ่าคนแก่เค้าเล่าต่อๆ กันมาว่า เหตุมันเกิดจากยักษ์วัดแจ้ง(วัดอรุณฯ) ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามมาตีกับยักษ์วัดโพธิ์ (บร๊ะเจ้า ..  การยกพวกตีกันนี่มันมีมาตั้งแต่สมัยโน้นเลยแฮะ สงสัยยีนด้อยชอบความก้าวร้าวที่ถ่ายทอดต่อกันมาเพิ่งจะมาแสดงผลชัดเจนกันในเจเนอเรชั่นปัจจุบันนี้ ..) ทั้งสองฝ่ายเข้าตะลุมบอนกันจนฝุ่นตลบ บ้านเรือนแถบนั้นพังยับราบเป็นหน้ากลอง ชาวบ้านเลยเรียกว่า “ท่าเตียน” กันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ซึ่งอันนั้นดูเหมือนจะเป็นเรื่องนิยายปรัมปราไปสักหน่อย ผมเลยต้องไปค้นประวัติความเป็นมาแบบเป็นทางการสักนิดจนได้ข้อสันนิษฐาน (อุ๊ย .. ใช้คำได้ทันสมัยซะด้วยสิเรา .. 555+) เป็นสองแนวทางดังนี้

 
(ซ้าย) อาหารทะเลตากแห้งมีขายเยอะจริงๆ .. / (ขวา) ร้านส้มตำอินเตอร์นะจ๊ะ .. เมนูภาษาอังกฤษซะด้วย ร้านค้าร้านอาหารแถวนี้แทบทุกร้านส่งภาษาอังกฤษฟุดฟิดฟอไฟกับชาวต่างชาติได้สบายๆ ..

ข้อสันนิษฐานแรก มีว่า ..

“ …เพลิงไหม้เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 1 เวลายามเศษ ไฟไหม้เสียหายจำนวนมาก เป็นเรือนหม่อมเจ้าในกรมสุรินทร์รักษ์ (กรมหมื่นสุรินทรรักษ พระนามเดิม พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฉัตร ต้นราชสกุล ฉัตรกุล ณ อยุธยา) 28 หลัง โรงพระองค์เจ้ามหาหงส์ (พระองค์เจ้ามหาหงษ พระนามเดิม พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ามหาหงษโสภาค ในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นสุรินทรรักษ) 3 หลัง เรือน 13 หลัง เรือนข้าราชการและราษฎร 44 หลัง ศาลาวัดสองหลังครึ่ง โรงงานของในหลวง 1 โรง ประตูท่าช้างล่าง ตัวไม้ในโรงเรือนที่จะใช้สร้างวังและพระอารามหลวงกว่าร้อยต้น.. ”
          เพลิงไหม้ในครั้งนั้นกินเนื้อที่กว้างขวางมาก เป็นเหตุให้บริเวณนั้นราบเรียบเตียนโล่งผิดตาจากเดิม จนคนทั่วไปใช้เป็นที่หมายเรียกลักษณะเด่นของบริเวณนั้นว่า “ท่าเตียน”

อืมมม .. อันนี้ดูจะเข้าเค้าเหมือนกันแฮะ .. ลองมาดูอีกแนวทางหนึ่งกันบ้าง

…มีผู้สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “ฮาเตียน” ซึ่งเป็นชื่อหนึ่งในประเทศญวน ชาวญวนได้อพยพเข้ามาตั้งฐานพำนักในประเทศไทยหลายครั้งหลายหน และกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพระนครและธนบุรี มีชาวญวนบางคนซึ่งเห็นภูมิประเทศบริเวณนี้คล้ายคลึงกับภูมิประเทศส่วนหนึ่งของเมืองฮาเตียนที่เคยอยู่อาศัยจึงเรียกบริเวณนั้นว่า “ฮาเตียน” เพื่อให้คลายความคิดถึงถิ่นฐานที่เคยอยู่ ต่อมาจึงเพี้ยนเป็นสำเนียงไทยว่า “ท่าเตียน” อาจกล่าวได้ว่าบ้านญวนแห่งแรกบนเกาะรัตนโกสินทร์คือบ้านญวนในแถบท่าเตียนถึงพาหุรัด เรียกว่าญวนฮาเตียนหรือท่าเตียนในปัจจุบันนั่นเอง

นี่ก็มีความเป็นไปได้อยู่พอสมควร .. อันนี้ก็แล้วแต่เพื่อนๆ จะเลือกแนวทางไหนก็แล้วกันนะครับ

[ที่มาของข้อมูล : ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์, ห้องสมุดดิจิทัลของมหาวิทยาลัยศิลปากร. ไม่ทราบปี. “ชุมชนท่าเตียน.” [ระบบออนไลน์]. http://www.lib.su.ac.th/rattanagosin_web/?q=node/241 (18ธันวาคม 2558). ]

 
(ซ้าย) ระหว่างทางลงไปท่าพระจันทร์ ..  / (ขวา) วัตถุมงคล ของที่ระลึก เสื้อผ้า ฯลฯ วางเรียงรายดูละลานตารอนักท่องเที่ยว ..



(ซ้าย) ถนนแห่งศรัทธา / (ขวา) พี่เค้ากำลังได้อารมณ์เลย ..

จากท่าเตียนคราวนี้ก็มาถึงท่าช้าง-วังหลังกันบ้าง ท่าเรือนี้อยู่สุดถนนที่คั่นกลางระหว่างวัดพระแก้วกับสนามหลวง(ถนนหน้าพระลาน) ย่านนี้ของกินเยอะแยะเป็นที่ฝากท้องของผมในอดีตเมื่อสิบห้าปีก่อนครั้งที่ยังมาเรียนเขียนเวบไซต์ที่ม.ศิลปากร(วังท่าพระ) ขอยืนยันตรงนี้เลยว่าอาหารอร่อยๆ มีให้เลือกกินกันไม่หวาดไม่ไหวชนิดที่ว่าตอนเข้ามาเรียนหุ่นเพรียวอยู่ดีๆ แต่พอจบออกไปอีกทีพุงปลิ้นหน้ากลายเป็นกะละมังซะหยั่งงั้น แต่ไม่ได้ไปซะนานไม่รู้ว่าร้านเก่าแก่ดั้งเดิมจะยังคงอยู่ดีกันหรือเปล่า หรือว่ามีล้มหายตายจากกันไปบ้างแล้ว

วันนี้ไม่ได้แวะเยี่ยมเยือนท่าช้างฯ เพราะหัวหน้าก๊วนพาพวกเราเดินผ่านถนนมหาราชเลี้ยวทะลุไปข้างวัดมหาธาตุที่เป็นแหล่งรวมของอีกหนึ่งอาชีพที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของคนไทยที่มีมาแต่ดั้งเดิม พระพุทธรูป พระเครื่อง เครื่องราง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และวัตถุมงคลอื่นๆ ที่คุณจะหาเช่ากันได้ตลอดทั้งสองฝั่งของถนนแคบๆ เส้นนี้ ตาดีได้ตาร้ายเสียเพราะมีทั้งจริงที่มีตำนานเล่าขานมายาวนานรองรับหรือมีทั้งแบบจำลองขึ้นใหม่เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึกกับชาวต่างชาติก็เยอะ ซึ่งบางครั้งก็ทำเลียนแบบได้เหมือนมากและก็เหมือนมากเสียจนแทบจะแยกแยะกันไม่ออกอยู่แล้ว ผมก็ได้แต่เดินๆ ดูไปเรื่อยๆ กดชัตเตอร์ซ้ายทีขวาทีไปตลอดทาง


ศาสนา .. นำพาให้ได้มาเจอกัน .. ศรัทธาใช่ว่าจะดูกันแค่เปลือกนอก ..

แล้วก็มาถึงท่าพระจันทร์จนได้ ต้องขอบคุณมัคคุเทศก์กิติมศักดิ์ของพวกเราที่พาเดินเลาะเลี้ยวไปมาจนโผล่ที่หน้าประตูของม.ธรรมศาสตร์ วันนี้ก็เลยได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมสักครั้ง สิ่งแรกที่มองหาคือยอดโดมอันเป็นแลนด์มาร์กที่โด่งดังของที่นี่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งผลิตบัณฑิตผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายและการเมืองที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ โดยมีชื่อเรียกกันจนติดปากว่า “เสือเหลือง-สิงห์แดง” ซึ่งหมายถึงคณะนิติศาสตร์และคณะรัฐศาสตร์ของม.ธรรมศาสตร์นั่นเอง (ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/คณะนิติศาสตร์_มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ )

 
(ซ้าย) ยอดโดมที่เป็นสัญลักษณ์ของม.ธรรมศาสตร์ .. / (ขวา) มุมนี้มองจากแถวๆ ลานปรีดี พนมยงค์ ..

(ซ้าย) อนุสาวรีย์พ่อปรีดีของชาวธรรมศาสตร์ ตั้งอยู่ที่หน้าแม่โดม ..

เราลองมาอ่านประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กันพอสังเขปนะครับ

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถือกำเนิดขึ้นจากการจัดตั้งโรงเรียนกฎหมายใน พ.ศ. 2440 โดยพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เสนาบดีกระทรวงยุติธรรม แต่ครั้งมีพระยศที่พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ฯ เพื่อให้การศึกษาอบรมด้านนิติศาสตร์โดยเฉพาะซึ่งไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ดี ถึงแม้ครั้งนั้นมีสถานะเป็นแต่โรงเรียนอันมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ กระนั้นก็ได้มีแจ้งความของโรงเรียนเกี่ยวกับกำหนดการสอบไล่ของนักเรียนกฎหมายลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาอันเป็นหนังสือพิมพ์ข่าวราชการด้วย สำหรับที่ตั้งของโรงเรียนกฎหมายนั้นได้แก่ห้องเสวยของเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมซึ่งอยู่ถัดจากห้องทรงงาน โดยเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมทรงให้การศึกษาด้วยพระองค์เองเมื่อทรงเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ครั้นมีนักเรียนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จึงมีการย้ายไปทำการเรียนการสอนยังตึกสัสดีหลังกลาง กระทรวงยุติธรรม (อ่านต่อ)

นั่งพักดื่มน้ำดื่มท่าสอดส่ายสายตาไปรอบๆ มิได้มีเจตนาแอบแฝงอันใดดอก เพียงเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ได้มาเยือนเลยต้องทำตัวเสมือนกล้องซีซีทีวีหมุนซ้ายทีขวาทีเพื่อเก็บบันทึกภาพสวยๆ ดีๆ เอามาเป็นวัตถุดิบใช้เล่าเรื่องในเอนทรีนี้ยังไงล่ะ(ดูๆๆ .. ข้ออ้างฟังขึ้นเชียวเนอะ ..ฮ่าๆๆ) ..


ฝั่งตรงข้ามลานปรีดีฯ เป็นโรงพยาบาลศิริราช ..


(ซ้าย) สาบานได้ว่าผมจะถ่ายร้านค้าข้างหลังโน่น ที่ผมนึกว่าเป็นร้านก๋วยจั๊บชื่อดังแห่งย่านถนนพระอาทิตย์ แต่กล้องมันโฟกัสพลาดเองน่ะครับ .. จริงจริ๊งงงง (เสียงสูงปรี๊ดดด) ..

หลังจากคลายร้อนจากอากาศอบอ้าวช่วงกลางวัน ก็ได้เวลากันสักที บ่ายๆ อย่างนี้ก็พากันเดินเลาะเรียบผ่านโรงเรียนนาฏศิลป์ที่เค้าร่ำลือว่าสาวๆ สวยยิ่งนักเพื่อใช้เป็นทางผ่านทะลุออกไปลอดใต้สะพานปิ่นเกล้าฝั่งพระนครเข้าสู่ถนนพระอาทิตย์ ไปปิดทริปนี้กันที่สวนสันติชัยปราการที่ตั้งอยู่บริเวณโค้งป้อมพระสุเมรุนั่นแหละครับ ระหว่างทางผ่านร้านก๋วยจั๊บญวนชื่อดังที่อร่อยจนหลายคนต้องมาจัดสักมื้อทั้งรายการทีวี เวบไซต์ บล็อกเกอร์ เฟซบุ๊คเพจพากันรีวิวไม่ขาด แม้กระทั่งเพจ/บล็อคส่วนตัวก็ยังยอมลงทุนเสียตังค์มากินเองเพื่อถ่ายรูปทำรีวิวเพราะมันอร่อยคุ้มจริงๆ พลาดไปล่ะเสียดายแย่ (ผมไม่ได้บอกชื่อร้านเพราะไม่ได้มาโฆษณา ถ้าใครอยากรู้ให้อากู๋ช่วยเสิร์ช รับรองเจอได้ไม่ยากไม่เย็นแน่นอน ..)


อ๋อ .. ร้านเค้าอยู่ตรงนี้นี่เอง ..


พระที่นั่งสันติชัยปราการ ศาลาไทยหลังคาจัตุรมุข เป็นเครื่องไม้ทั้งหมด ที่หน้าบันมีลวดลายแกะสลัก ประดับตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ..

สวนสันติชัยปราการในตอนบ่ายแก่ๆ แบบนี้ยังไม่มีใครมาใช้บริการสักเท่าไร คงมีแต่พวกเราและคู่รักวัยรุ่นอีกคู่ที่กำลังแอ็คท่าถ่ายรูปกันกระหนุงกระหนิง ส่วนพวกเรามีแต่ชายหนุ่มบึกบึนถึกแกร่งทนทุกสภาวะแบกกระเป๋ากล้องใบเบ้อเริ่มพร้อมกับขาตั้งกล้องยาวครึ่งเมตรอีกคนละอันดูพะรุงพะรังดีพิลึก จะถ่ายพวกเดียวกันเองให้เปลืองชัตเตอร์เค้าท์เล่นๆ ก็กระไรอยู่ กล้องคู่ใจคงจะทำหน้ายี้ไม่อยากเก็บภาพหนุ่มโฉดแต่ละนายไว้ในกล้องให้เสียเซลฟ์ เลยหันไปถ่ายศาลา ถ่ายต้นไม้ ถ่ายแม่น้ำ ถ่ายตึกรามบ้านช่องไร้สาระไปตามเรื่องจนสมควรแก่เวลาจึงพากันแยกย้าย ขากลับเลยได้มีโอกาสใช้บริการเรือด่วนเจ้าพระยาจากท่าพระอาทิตย์ไปลงท่าเตียน เพื่อต่อรถโดยสารประจำทางปรับอากาศกลับบ้าน นั่งหลับๆ ตื่นๆ ไปสี่ชั่วโมงกว่าจะถึงแถวๆ บ้าน ยังต้องต่อรถอีกสองต่อเล่นเอาสะบักสะบอมกว่าจะเข้าบ้านได้ก็มืดตึ๊อตื๋อ เปิดประตูเข้ามาก็เจอข่าวในพระราชสำนักกำลังออกอากาศอยู่พอดี

  
(ซ้าย) เส้นทางเดินเข้าสู่พระที่นั่ง .. / (กลาง) จากใต้ร่มเงาแห่งความความร่มเย็น .. / (ขวา) ตระหง่านง้ำค้ำฟ้าท้าทายแสงจ้าแห่งดวงตะวัน ..

สรุปทริปนี้ได้พารองเท้าคู่เก่าออกก้าวเดินย่ำไปในเส้นทางสายอดีตแห่งเกาะรัตนโกสินทร์สมใจอยาก ได้ทดสอบสมรรถภาพความอดทนของร่างกายไปในตัวอีกด้วย แต่สิ่งที่ได้กลับมาหาใช่ภาพถ่ายที่สวยงามเลิศเลออะไรไม่ ความรู้สึกและสำนึกตระหนักถึงเรื่องราวมากมายจากอดีตที่หลายคนหลงลืมไปต่างหากล่ะ ที่ยังตราตรึงฝังรากลึกลงไปในเซลล์สมอง บันทึกเอาความทรงจำอันน่าประทับใจไว้ให้ได้ซาบซึ้งถึงวิถีชีวิตดั้งเดิมแห่งสยามประเทศที่ถูกความเปลี่ยนแปลงแห่งทุนนิยมมาพรากชุมชนดั้งเดิมไปเลือนหายไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลง

เอนทรี่นี้ผมทำตัวเป็นเด็กดีมีสาระเผื่อจะได้เป็นประโยชน์กับผู้อ่านบ้าง ต้องขอขอบคุณที่ติดตามอ่านกันจนจบนะครับ ..

ภาพของทริปนี้


เขียนโดย : นายเมษา
เขียนเมื่อ : วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม 2558 เวลา 23:46 น. GMT+7 TH

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น