โบสถ์ใหม่ .. วันนี้เมฆกระจัดกระจายดีแท้หนอ ..
กลับมาจากไปเตร็ดเตร่ยามค่ำมืดที่ใจกลางกรุงฯ ก็เลยได้มีเวลาว่างสักวันนึง ตั้งใจมานานหลายปีแล้วว่าจะกลับไปไหว้หลวงพ่อโสธรที่แปดริ้วสักครั้ง ซึ่งผมเองได้ไปฝากเนื้อฝากตัวเป็นลูกหลวงพ่อท่านมาตั้งแต่ครั้งยังเป็นเด็กเล็ก ตอนนั้นอายุประมาณสอง-สามขวบนี่แหละ เวลาผมเป็นไข้ไม่สบายทีไร จะเป็นหนักตัวร้อนมากจนชักตาตั้งอยู่บ่อยๆ เกือบจะลาโลกไปซะก็หลายครั้งหลายหน ไม่ว่าจะเลี้ยงยังไงตัวก็ยังเล็กนิดเดียวไม่ยอมโต (ซึ่งผิดกับตอนนี้โดยสิ้นเชิง) พ่อ-แม่ก็เลยเอาผมไปยกให้เป็นลูกหลวงพ่อจะได้ให้ท่านช่วยคุ้มครอง จนผมเอาชีวิตรอดและเติบใหญ่มาได้จนทุกวันนี้
เมื่อครั้นโตขึ้นมาอีกนิดก็มีโอกาสได้ไปอยู่ที่แปดริ้วหลายปีจนจบประถมหกที่นั่น แต่อำเภอที่ผมอยู่มันห่างจากตัวเมืองสักสี่-ห้าสิบกิโลเมตรนี่แหละ สมัยนั้นยังเด็กเกินกว่าจะนั่งรถแดงหวานเย็นเข้ามากราบหลวงพ่อโดยลำพัง จนเข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมที่กรุงเทพฯ ก็เลยยิ่งไม่มีโอกาสได้ไปอีกเลย
ซึ่งตอนนั้นโบสถ์ใหม่ยังไม่มีโครงการจะสร้างเลย วัดเองก็ยังไม่ได้ใหญ่โต ไม่มีพุทธุรกิจพุทธุรกรรมที่่อิงผลประโยชน์กันมากมายจนเกิดเป็นข่าวไม่ดีไม่งามเป็นที่เสื่อมเสียต่อศรัทธาของพุทธมามกะอย่างเช่นทุกวันนี้ หลวงพ่อท่านอยู่ในโบสถ์ของท่านเฉยๆ แต่ต้องแบกรับข้อครหาที่เกิดมาจากเหลือบริ้นที่คอยเกาะกินสูบเลือดจากผู้คนที่ศรัทธาในหลวงพ่อ มันยุติธรรมแล้วแน่หรือ?
คงไม่มีใครที่ไม่รู้จักวัดโสธรเน๊อะ .. / สวยงาม ยิ่งใหญ่อลังการมากๆ ..
แต่สำหรับผมแล้วนั้น อย่างไรเสียวัดกับคนไทยก็ยังคงเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่เคียงคู่กันไม่เสื่อมคลาย ในยามท้อยามหมดหวัง ต้องการกำลังใจ หรือต้องการที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ วัดยังคงมีสิ่งเหล่านั้นให้กับคนที่ทุกข์ท้อกับเรื่องราวในชีวิตอยู่เสมอ วัดเป็นที่สงบร่มเย็น เป็นที่พักพิง เป็นที่ศึกษา เป็นที่ค้นหาความจริง เป็นที่พักพิงเพื่อพิจารณาตัวตนของเรา คำสอนของพระพุทธองค์ไม่เคยล้าสมัย เพียงแค่เราทำความเข้าใจและนำมาปรับใช้กับชีวิตของเราให้ได้ เพราะธรรมะเป็นสิ่งที่จริงแท้แน่นอนของโลก เราไม่อาจปฏิเสธความเป็นไปของชีวิตที่พระพุทธองค์ได้ตรัสรู้เอาไว้เมื่อสองพันกว่าปีก่อนได้หรอก
กลับมาสู่เรื่องราวการเดินทางกลับไปไหว้(หลวง)พ่อของผมกัน ครั้งนี้ไปแบบสงบสุภาพ อาจไม่ได้เก็บภาพมากมายอะไร แต่สิ่งที่ได้ไปเก็บกลับมาคือความสดชื่นเย็นสบายใจ แม้อากาศจะร้อนอบอ้าว แดดออกสลับกับฝนตลอดทั้งวันก็เถอะ แต่ในใจมันชุ่มชื่นดีแท้
บนยอดมณฑปเป็นยอดฉัตรทองคำหนัก 77 กิโลกรัม .. !!!! / เดินมาจากทางหลังโบสถ์เก่าก็จะเจอหลังโบสถ์ใหม่ ใครไปเข้าห้องน้ำห้องท่าเดินออกมาก็เจอมุมนี้แหละครับ ..
ออกเดินทางกันตอนสายๆ เหมือนเดิม เพราะผมไม่นิยมออกไปจอดติดอยู่บนถนนยามเช้าวันอังคารที่ยังเป็นวันทำงานของชาวกรุง มุ่งหน้าไปตามถนนเสรีไทย ผ่านมีนบุรี หนองจอก เข้าสู่จังหวัดฉะเชิงเทราหรือที่คนบ้านๆ รุ่นราวคราวเดียวกับผมจะเรียกกันจนติดปากว่า “แปดริ้ว”
คำว่า “แปดริ้ว” นี่มันมีที่มานะครับ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ นึกอยากจะเรียกขึ้นมาเฉยๆ .. มาสิๆ ล้อมวงกันเข้ามาผมขออาสาจะเล่าให้ฟัง
เรื่องนี้ครูสมัยประถมของผมสอนมาอีกที แต่จะอ้างชื่อของท่านคงไม่เหมาะ และอีกอย่างผมเองก็จำชื่อท่านไม่ได้แล้วด้วย ก็ตอนนั้นผมเพิ่งจะอยู่ชั้นประถมห้า อายุก็น่าจะประมาณแปด-เก้าขวบละมั๊ง (ลองนับเวลาก็ผ่านมาได้เกือบจะสี่สิบปีแล้วนี่นะ) เรื่องมีอยู่ว่า ..
สมัยครั้งยังอยู่ในยุคอดีต บ้านเมืองสยามยังไม่ได้เป็นปึกแผ่น หัวเมืองใหญ่ๆ แต่ละแว่นแคว้นเขตคามดาษดื่นก็มีวัฒนธรรมประเพณีรวมไปถึงการเมืองการปกครองเป็นแบบเฉพาะของตัวเอง และเมื่อความเจริญรุ่งเรืองเริ่มทวีมากขึ้นก็มีการขยับขยายอาณาเขตกันกว้างขวางใหญ่โตจนตั้งเป็นอาณาจักรต่างๆ ได้ เช่นอาณาจักรโยนก อาณาจักรหริภุญชัย อาณาจักรล้านนา อาณาจักรทวารวดี อาณาจักรละโว้ แล้วแต่ละอาณาจักรก็ได้รับอิทธิพลทางความเชื่อจากชนชาติต่างๆ ที่อยู่ใกล้เคียงแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่
ขอบคุณภาพจาก http://pantip.com
ซึ่งเมืองแปดริ้วเองนั้นก็ได้รับอิทธพลของอารยธรรมขอมจากอาณาจักรทวารวดีที่แผ่ขยายอำนาจครอบคลุมแถบลุ่มแม่น้ำของภาคกลางเช่นกัน ซึ่งจะว่าไปในยุคนั้นอารธรรมขอมรุ่งเรืองมากแผ่ขยายเข้ามาทางตะวันออกกินอาณาบริเวณเกือบทั้งดินแดนสุวรรณภูมิเลยทีเดียว ดังจะเห็นปราสาทแบบขอมถูกสร้างขึ้นมากมายทั้งในภาคกลางและอีสาน ถ้าใครเคยอ่านวรรณกรรมเยาวชนเรื่อง “หุบเขากินคน” ก็คงจะมองภาพอาณาจักรฟูนันอันยิ่งใหญ่ที่เป็นต้นกำเนิดของอาณาจักรขอมอันรุ่งโรจน์ในอดีตกาลได้เป็นอย่างดี ซึ่งชะตากรรมของอาณาจักรขอมเองก็ไม่ได้ต่างจากกรีกหรือโรมัน คือเมื่อรุ่งเรืองถึงขีดสุดก็จะล่มสลายไปในบั้นปลาย เพราะอะไรก็ลองไปวิเคราะห์กันดูนะครับ
ไม่รู้ว่าอาณาจักรรัตนโกสินทร์ของเราจะล่มสลายไปเพราะผู้นำบางคนที่ขาดไร้ความสามารถ ยังกล้าเสนอตัวมาถือหางเสือนำพารัฐนาวาจนเกือบจะอัปปาง เดินตามรอยกรีกและโรมันไปติดๆ ถ้าไม่ได้ผู้นำน้ำดีที่เข้ามาเด็ดหัวคนชั่วๆ ป่านนี้เราคงได้ลิ้มรสความวอดวายเฉกเช่นเดียวกับที่อาณาจักรใหญ่ๆ ได้รับรู้มาแล้วเป็นแน่
กลับมาเรื่องของเรากันต่อครับ .. แต่เดิมเมืองแปดริ้วมีชื่อเป็นภาษาเขมรว่า “สตึงเตรง” หรือ “ฉทึงเทรา” แปลว่าคลองลึก ซึ่งก็น่าจะหมายถึงแม่น้ำบางปะกงอันเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านใจกลางเมืองนั่นเอง แต่คนไทยเราได้ยินไม่ถนัดเพราะไม่คุ้นกับสรรพเสียงสำเนียงแบบเขมรก็เลยเรียกเพี้ยนกันไปเป็น “ฉะเชิงเทรา” หรือ “แซงเซา”
ในสมัยนั้นเมืองฉทึงเทราเป็นเมืองหน้าด่านที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก ในน้ำมีปลาในนามีข้าว จนเป็นที่ร่ำลือกันไปทั่วเขตแคว้นแดนขวานทองว่าปลาช่อนในคลองลึกนั้นตัวใหญ่มาก เวลาจับได้ชาวบ้านก็จะใช้วิธีถนอมอาหารแบบพื้นบ้านด้วยวิธีแล่เป็นริ้วๆ แล้วเอาไปตากแดดให้แห้งเก็บไว้กินได้หลายเดือน แต่เพราะความที่เจ้าปลาช่อนของเมืองฉทึงเทรามันตัวใหญ่มากๆๆๆ เหลือเกินจนแล่ออกมาได้ถึงแปดริ้วเลยทีเดียว (อันนี้คนโบราณเค้าเล่าต่อๆ กันมาครับ ผมไม่ขอคอนเฟิร์มนะจ๊ะ เพราะผมเองก็ไม่เคยเห็นปลาช่อนตัวใหญ่ขนาดนั้นเหมือนกัน)
ปลาช่อนตากแห้ง แต่นี่ไม่ถึงแปดริ้วหรอกนะ .. (ขอบคุณภาพจาก http://www.weekendhobby.com)
ลองนึกภาพปลาช่อนแห้งนะครับ ถ้าเราขอดเกล็ดควักไส้แล้วเอามีดกรีดที่หลังของตัวปลาเป็นแนวตามความยาวจากหัวไปหาง ส่วนตรงกระดูกกลางตัวก็กรีดแบบเดียวกันให้ถึงท้องของตัวปลาเลย โดยก้างปลาก็ทิ้งให้ติดอยู่กับเนื้อปลาอย่างนั้น คุณก็จะได้ปลาช่อนที่แบออกเป็นสองข้างโดยมีแค่ส่วนของท้องและแนวด้านล่างของตัวปลาที่ยังติดกัน จากนั้นทาเกลือให้ทั่วแล้วเอาไปตากแดดแรงๆ วิธีนี้จะช่วยตากปลาให้แห้งได้อย่างทั่วถึงแล้วยังสะดวกในการพลิกให้โดนแดดทั้งสองข้างอีกด้วย แต่ถ้าใครนึกไม่ออกเย็นนี้ลองออกไปร้านขายกับข้าวแล้วซื้อมาลองทอดกินกันดู ปลาช่อนแดดเดียวควันกรุ่นสะเด็ดน้ำมันจากกระทะกินกับข้าวสวยร้อนๆ อร่อยอย่าบอกใครเชียว ไม่ต้องไปหากับข้าวอื่นมาเพิ่มให้สิ้นเปลืองเลยล่ะ
ปลาช่อนแดดเดียวทอดกรอบๆ กลิ่นหอมเย้ายวนใจจนน้ำลายสอ .. ตักข้าวสวยร้อนๆ มารอกันได้เลยครับ .. (ขอบคุณภาพจาก http://uppic.kaweeclub.com)
กว่าจะถึงตำนานปลาช่อนแปดริ้ว ผมก็พาเพื่อนๆ ออกไปค้นประวัติชื่อ “ฉะเชิงเทรา” เสียด้วยเลย ไหนๆ ก็พูดกันเรื่องชื่อทั้งสองชื่อของจังหวัดนี้อยู่แล้ว
(ขอบคุณข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://rrulocal.rru.ac.th)
กลับสู่ปัจจุบัน .. สมัยนี้มีอาคารจอดรถของวัดสูงใหญ่หลายชั้นตั้งอยู่ตรงข้ามโบสถ์ใหม่ เลยเข้าไปจากที่จอดรถด้านหน้าที่อยู่บริเวณตลาดหน้าวัดที่พ่อค้าแม่ขายเอาสินค้ามาวางขายกันนั่นแหละ อาคารจอดรถกว้างขวางสะดวก ปลอดภัย ไม่เก็บค่าบริการ เพียงแต่ต้องเดินไกลขึ้นอีกนิดนึง(นิดนึงจริงๆ นะ ..)กว่าจะมาถึงริมถนนเพื่อข้ามไปไหว้หลวงพ่อ แต่ถ้าวันไหนแดดแรงๆ หน่อยก็เรียกเหงื่อพอให้เสื้อชื้นๆ ได้เหมือนกัน ส่วนในระหว่างทางก็มีร้านค้าเรียงรายขายของกินของฝากให้ได้บริหารข้อมือควักกระเป๋าตังค์ออกมาจับจ่ายมากมายละลานตาจนเลือกซื้อกันไม่หวาดไม่ไหว ถูกใจร้านไหนก็เข้าร้านนั้นครับ สินค้าเหมือนๆ กันแทบจะทั้งตลาด
หลังจากไหว้หลวงพ่อองค์จำลองที่โบสถ์เก่าเสร็จเรียบร้อย ก็ต้องเดินเข้าไปไหว้หลวงพ่อองค์จริงที่ในโบสถ์ใหม่ด้วย เพราะในโบสถ์ใหม่ไม่อนุญาตให้จุดธูปเทียน ให้วางดอกไม้ได้อย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าใครจะมาจุดธูปไหว้หลวงพ่อ เช่าบูชาวัตถุมงคล บริจาคค่าน้ำค่าไฟ เสี่ยงเซียมซี ฯลฯ หรือจ้างละครไปรำแก้บนก็ไปทำที่โบสถ์เก่า หากใครประสงค์จะไหว้หลวงพ่อไม่ได้มาทำพุทธุรกิจกรรมอื่นๆ ก็เข้าโบสถ์ใหม่ได้เลย
ผมนั่งแอบอยู่ข้างเสา .. มุมนี้ก็เห็นหลวงพ่อชัดเจนเหมือนกัน ..
ผมเข้าไปนั่งจุ้มปุ๊กกราบหลวงพ่ออยู่ข้างเสาต้นแรกทางซ้ายมือของประตูทางเข้าซึ่งจะมองเห็นหลวงพ่อได้ชัดเจนพอสมควร ไม่ต้องเบียดเสียดแย่งกันเข้าไปนั่งพื้นที่ด้านหน้าหลวงพ่อที่มีคนเข้าไปนั่งกันจนเต็มแน่นเอี้ยดแล้ว ตรงที่ผมนั่งอยู่ไม่ค่อยมีใครมานั่งเบียดด้วย ก็เลยนั่งพักสบายๆ ไม่ต้องรีบลุกออก อากาศภายในโบสถ์สงบร่มเย็นน่านอนมากต่างกับข้างนอกราวฟ้ากับเหว ผมอ่านบทสวดอารธนาหลวงพ่อโสธรที่ผู้มีจิตศรัทธาทำมาบริจาคให้โดยทำเป็นแผ่นป้ายพลาสติกแข็งติดตั้งเอาไว้ข้างองค์หลวงพ่อ
ผมนั่งพินิจพิจารณาซึมซับความงดงามขององค์หลวงพ่อโสธรอยู่พักใหญ่ พลันนึกถึงประวัติความเป็นมาขององค์หลวงพ่อที่เกี่ยวเนื่องกับตำนานเรื่องของพระพุทธรูปสามพี่น้อง ที่ผมจะเล่าให้ฟังจากย่อหน้านี้เป็นต้นไป ตามสไตล์ของผมที่ออกไปเที่ยวก็ต้องพร้อมจะเก็บเกี่ยวสาระดีๆ ติดไม้ติดมือกลับมาด้วย
ดูกันใกล้ๆ ชัดๆ ครับ .. องค์หลวงพ่อท่านงดงามไร้ที่ติจริงๆ ..
พระสามพี่น้องเป็นพระพุทธรูปติดอันดับหนึ่งของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ พระสามพี่น้องที่จะกล่าวถึงก็คือพระสามพี่น้องที่สร้างปาฏิหาริย์ลอยน้ำมาขึ้นในจังหวัดต่างๆ ซึ่งก็คือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จังหวัดสมุทรสงคราม, หลวงพ่อโสธร วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ในจังหวัดสมุทรปราการ
มาเริ่มที่ตำนานเรื่องแรกกันก่อนครับ
ตำนานเล่าว่าพระสามพี่น้องนี้เป็นพระที่สร้างขึ้นโดยพี่น้องสามคนเพื่อเป็นพุทธบูชา โดยพี่ชายคนโตเป็นคนที่เกิดวันพุธ จึงสร้างพระปางอุ้มบาตร, คนกลางนั้นเกิดวันพฤหัสบดีจึงสร้างพระปางสมาธิ, ส่วนน้องคนสุดท้องสร้างพระปางมารวิชัย แล้วต่อมาก็ว่ากันว่าพระพุทธรูปทั้งสามองค์นี้ถูกนำมาซ่อนในแม่น้ำเพื่อหลบพม่า หรือบ้างก็ว่าเกิดอุบัติเหตุจากการขนย้ายทางเรือ แต่สุดท้ายแล้วพระพุทธรูปทั้งสามองค์นั้นก็เป็นพระที่อยู่ในแม่น้ำเหมือนกัน เมื่อพระพุทธรูปทั้งสามอยู่ในแม่น้ำทางภาคเหนือก็แสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ล่องลอยมาตามแม่น้ำ และแต่ละองค์ได้เลือกสถานที่ต่างๆ เป็นที่ประดิษฐานมาจวบจนทุกวันนี้
ขอบคุณภาพจาก http://www.aecnews.co.th
หลวงพ่อวัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) หรือ วัดศรีจำปาในอดีต โดยตำนานเล่าว่าชาวบ้านแหลม ได้ไปจับปลาในปากอ่าว ในขณะที่ลากอวนจับปลาอยู่นั้นก็ได้ลากติดพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรขึ้นมาหนึ่งองค์ ชาวประมงต่างดีใจอาราธนาท่านขึ้นประดิษฐานบนเรือ แล้วรีบตีกลับในทันทีในขณะที่กำลังกลับลำเรือจะมุ่งหน้ากลับตำบลแม่กลอง ผ่านหน้าวัดศรีจำปาก็ได้เกิดเรื่องประหลาดขึ้นคล้ายๆ กับว่าหลวงพ่อท่านประสงค์ที่จะขึ้นประดิษฐานที่วัดนี้ จึงบันดาลให้เกิดพายุฝนกระหน่ำอย่างรุนแรง ทำให้เรือที่บรรทุกหลวงพ่อมานั้นทนคลื่นลมไม่ไหว ก็เอียงโคลงไปโคลงมา จนหลวงพ่อท่านเคลื่อนตกจากเรือจมหายไปอีกครั้ง
ชาวประมงบ้านแหลมต่างช่วยกันดำน้ำหาอยู่หลายวันก็ไม่พบ ชาวบ้านศรีจำปาทราบข่าวก็ช่วยกันดำน้ำค้นหากันอีกครั้ง ด้วยอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ของหลวงพ่อที่ได้เลือกที่ขึ้นประดิษฐานและจะอยู่เป็นมิ่งขวัญของชาวบ้านแถวนี้ ท่านก็ได้ปรากฏองค์ให้เห็นอีกครั้งตรงจุดเดิมที่ท่านจมลงไป ชาวบ้านศรีจำปาจึงช่วยกันอาราธนาท่านขึ้นแล้วนำไปประดิษฐานไว้ที่วัดศรีจำปา แต่ชาวบ้านแหลมมีข้อแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนชื่อวัดเสียใหม่เป็นชื่อว่า “วัดบ้านแหลม” เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้จดจำว่าเป็นกลุ่มแรกที่ได้พบพระพุทธรูปองค์นี้ จากนั้นวัดศรีจำปาจึงเปลี่ยนชื่อมาเป็น “วัดบ้านแหลม” นับแต่นั้นเป็นต้นมา
หลวงพ่อโสธร (วัดโสธรวรารามวรวิหาร จังหวัดฉะเชิงเทรา) หลวงพ่อโสธรนี้ถือว่าเป็นพระสามพี่น้ององค์กลาง ที่ลอยตามกระแสน้ำมาออกที่แม่น้ำบางปะกง แล้วจากนั้นก็ได้ลอยวนไปวนมาผุดขึ้นตรงบริเวณหน้าวัดหงส์ ซึ่งเล่ากันว่าตรงจุดที่หลวงพ่อลอยวนอยู่หน้าวัดหงษ์นั้นเดิมมีเสาใหญ่ยอดหงษ์ วัดนี้จึงถูกเรียกว่าวัดหงส์ ต่อมาหงษ์บนยอดเสาได้ชำรุดหักลงทางวัดจึงได้นำธง 8 ริ้วไปติดไว้บนยอดเสาแทน จนชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า แปดริ้ว
พอหลวงพ่อโสธรมาลอยวนหยุดอยู่บริเวณนี้ก็ทำให้ชาวบ้านตื่นตกใจ ช่วยกันฉุดชักขึ้นฝั่งแต่ก็ไม่สำเร็จ จนต้องมีผู้รู้มาแนะนำให้ตั้งศาลเพียงตาบวงสรวงกล่าวคำอัญเชิญชุมนุมเทวดามาอาราธนาท่านขึ้นจากแม่น้ำ โดยใช้เพียงสายสิญจน์คล้องที่พระหัตถ์เท่านั้นก็สามารถอาราธนาท่านขึ้นมาบนฝั่งได้สำเร็จ ชาวบ้านต่างดีใจพร้อมใจกันอัญเชิญหลวงพ่อท่านไปประดิษฐานที่วัดโสธรวรารามวรวิหารนับแต่นั้นมา
พระสามพี่น้ององค์เล็กปางมารวิชัยคือ หลวงพ่อโต วัดบางพลีใหญ่ใน (วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม) อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ โดยผุดขึ้นที่ปากคลองสำโรง แล้วชาวบ้านแถวนั้นได้อาราธนาขึ้นจากน้ำโดยใช้แพลากจูง อีกทั้งยังอธิษฐานว่าจะขึ้นฝั่งประดิษฐานเป็นมิ่งขวัญที่ใด ก็ขอให้แพหยุดอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไหวตรงนั้นแล้วแพก็มาหยุดนิ่งไม่ยอมเคลื่อนไหวหน้าวัดบางพลีใหญ่ใน ชาวบ้านเลยอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดนี้ ตำนานอาจจะแตกต่างมีการผิดเพี้ยนไปบ้างกันไปบ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของการบอกเล่าปากต่อปากที่เล่าสืบต่อกันมา
ที่มา: http://www.lucksiam.com
สยามเมืองยิ้ม (Thailand: Land of Smile)
เอาล่ะ .. ผมยังมีตำนานอีกเรื่องหนึ่งที่นับว่าได้รับความเชื่อถือศรัทธาเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน เป็นตำนานเล่าขานเรื่องของหลวงพ่อลอยน้ำ 5 พี่น้องครับ
กาลครั้งหนึ่งมีพี่น้องชาวเมืองเหนือ 5 คน บวชเป็นพระภิกษุในบวรพระพุทธศาสนาและได้สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลชั้นโสดาบันมีฤทธิ์อำนาจทางจิตมาก ได้พร้อมใจกันตั้งจิตให้สัจจะอธิษฐานว่า
“เกิดมาชาตินี้จะขอบำเพ็ญบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ แม้ตายไปแล้วก็จะสร้างบารมีช่วยสัตว์โลกให้พ้นทุกข์ต่อไปจนกว่าจะถึงซึ่งนิพพาน”
ครั้นพระอริยบุคคลทั้งห้าองค์นี้ดับขันธ์ไปแล้วก็เข้าสถิตอยู่ในพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ มีความปรารถนาจะช่วยปลดเปลื้องทุกข์ให้คนทางเมืองใต้ จึงพากันแสดงฤทธิ์ปาฏิหาริย์ให้พระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาทางใต้ตามแม่น้ำสายหลักของภาคกลางทั้ง 5 สาย ชาวบ้านชาวเมืองตามริมฝั่งแม่น้ำเห็นพระพุทธรูปทั้งห้าองค์ลอยน้ำมาก็พากันเลื่อมใส จึงได้นำพระพุทธรูปเหล่านั้นขึ้นฝั่งและอาราธนาให้ขึ้นประดิษฐานอยู่ตามวัดต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดที่ชะลอองค์พระขึ้นจากแม่น้ำ
โดยพระพุทธรูปองค์แรก ลอยมาตามแม่น้ำบางปะกงแล้วขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา เรียกว่า “หลวงพ่อโสธร”
พระพุทธรูปองค์ที่สอง ลอยมาตามแม่น้ำนครชัยศรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม เรียกว่า “หลวงพ่อวัดไร่ขิง”
พระพุทธรูปองค์ที่สาม ลอยมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดบางพลีใหญ่ใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เรียกว่า “หลวงพ่อโต”
พระพุทธรูปองค์ที่สี่ ลอยมาตามแม่น้ำแม่กลอง ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเพชรสมุทรวรวิหาร (วัดบ้านแหลม) อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เรียกว่า “หลวงพ่อบ้านแหลม”
และพระพุทธรูปองค์ที่ห้า ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี เรียกว่า “หลวงพ่อ (ทอง) เขาตะเครา”
ที่มา : http://www.dhammajak.net
แลนด์มาร์กของวัดสมานรัตนาราม .. “พระพิฆเนศ ปางเสวยสุข องค์ใหญ่ที่สุดในโลก” ..
เอาล่ะเที่ยงแล้ว ได้เวลากราบลาหลวงพ่อโสธร เพื่อมุ่งหน้าไปยังวัดชื่อดังอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นที่เลื่องลือกันในโลกโซเชี่ยลจนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ไปแล้ว และนั่นก็คือ “วัดสมานรัตนาราม” ที่เป็นอีกแยกหนึ่งของสายธารแห่งศรัทธา ตั้งอยู่ที่ตำบลบางแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา นี่่เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีของส่วนผสมแห่งความลงตัวที่เหมาะเจาะระหว่างธุรกิจกับความศรัทธาในศาสนา
“เจ้าแม่กวนอิม ปางประทานบุตร” .. แฮ่ๆๆ .. แดดตรงหัวพอดี เงยกล้องขึ้นไปย้อนแสงเต็มๆ ..
วัดสมานรัตนารามเป็นวัดเก่าแก่ที่มีการบริหารจัดการในเชิงรุกแบบสมัยใหม่เพื่อสร้างความอยู่ดีกินดีและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับชุมชน ดังนั้นจึงต้องสร้างจุดขายที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจน และนับเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะนำพาคนทุกเพศทุกวัยให้เข้าวัดได้อย่างไม่ต้องเคอะเขิน ปรับเปลี่ยนทัศนคติของเด็กรุ่นใหม่ที่เห็นว่าวัดเป็นเรื่องของคนแก่ให้มองวัดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสามารถเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจได้ ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปกับสิ่งมัวเมาล่อตาล่อใจในสังคมทุนนิยมอย่างเช่นปัจจุบัน ช่วยให้คนเราเข้าใกล้วัดได้มากขึ้น การขัดเกลาหล่อหลอมจิตใจและพฤติกรรมก็จะทำได้ง่ายดายขึ้น สามารถที่จะสอดแทรกธรรมะให้ซึมซาบเข้าไปยังเด็กรุ่นใหม่โดยที่เค้าไม่ทันรู้ตัวผ่านกระบวนการจัดการอย่างเป็นระบบของทางวัด(ความคิดเห็นของผู้เขียน)
จุดเด่นอันเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีของวัดสมานฯ ก็คือ พระพิฆเนศ ปางเสวยสุของค์ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ใครๆ ก็ต้องไปถ่ายรูปกลับมาแชร์กันจนทั่วจนกลายเป็นแลนด์มาร์กของวัดนี้ไปเสียแล้ว แต่ที่จริงวัดสมานฯ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกมากมายหลายองค์ให้ได้ไปกราบไหว้บูชาเพื่อเป็นสิริมงคลกับตัวเอง เช่น พระพิฆเนศ 108 กร, องค์ท้าวมหาพรหม, พระราหู, พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ, องค์เจ้าแม่กวนอิมปางประทานบุตร, องค์ท้าวเวสสุวรรณ, บามครูพ่อแก่, องค์พระศิวะและองค์พระแม่อุมาเทวี ฯลฯ ซึ่งเห็นชัดเจนว่าเน้นไปที่เทพต่างๆ ตามความเชื่อและศรัทธาอีกสายหนึ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
พระราหู .. อยู่ด้านหน้าวัดเลยครับ .. / ใกล้กันก็มีพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ..
อ๊ะๆ .. เดี๋ยวก่อนนะครับ อาจมีหลายคนที่เห็นต่าง อาจมองว่าวัดสมานฯ เน้นทำพุทธุรกิจจนจะกลายเป็นศาสนบริษัทมากกว่าศาสนสถานเสียแล้ว ซึ่งต้องขอบอกก่อนเลยว่าเอนทรี่นี้ เนื้อหาในส่วนของวัดสมานฯ เป็นมุมมองและความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ขอยืนยันว่าไม่ได้ตั้งใจเขียนเพื่อจะเชียร์หรือรับค่าตอบแทนใดๆ จากใครทั้งสิ้น แค่อยากรู้และบังเอิญว่ามีโอกาสได้เดินทางไปดูให้เห็นด้วยตาตัวเองเท่านั้น
องค์ท้าวมหาพรหม .. องค์ใหญ่กำลังสร้างอยู่ด้านหลังตำหนักนี้ .. / พญานาคคู่นี้ พ่นน้ำได้จริงนะครับ .. อยู่ริมแม่น้ำติดกับตลาด ..
ในความคิดของผมมันแสดงให้เห็นชัดเจนว่ามีการสร้างงานให้คนในชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบวัดอย่างมากมาย สร้างโอกาสทางการค้าขายและสร้างธุรกิจให้กับคนท้องถิ่นจากการท่องเที่ยว ความเจริญที่ตามเข้ามาจากถนนหนทางที่ปรับปรุง คุณภาพชีวิตของชาวบ้านเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดี มีการร่วมมือกันมากขึ้นระหว่างชุมชนและหน่วยงานรัฐโดยมีวัดเป็นเสมือนตัวกลาง อำนาจต่อรองของท้องถิ่นมีสูงขึ้น ชุมชนสามารถพึ่งตัวเองได้มากกว่าเดิม และทั้งหมดนี้นั้นจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้หากไม่มีวัดและศรัทธาเป็นกลจักรในการขับเคลื่อน ผมถึงบอกว่านี่เป็นตัวอย่างของความลงตัวของธุรกิจและศาสนาดังที่กล่าวไปแล้ว
อยากอธิษฐานขออะไรก็กระซิบใส่หูหนูฝากไปบอกองค์เทพได้เลย แต่เวลากระซิบก็ให้เอามือปิดหูอีกข้างของหนูเอาไว้ด้วย ไม่งั้นหนูจะทำเป็นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา คำขอจะไปไม่ถึงเอานา .. / ตรงนี้เป็นตลาด .. เอ๊ะ .. เรียกว่าศูนย์อาหารดีกว่า อยู่ติดกับพญานาค ถัดจากองค์พระพิฆเนศมานิดนึง ..
แวะเข้าไปเยี่ยมชมเวบไซต์ของวัดสมานรัตนารามได้ที่นี่ครับ
http://www.watsaman56.com
บ่ายนี้บอกลาทางแยกแห่งศรัทธา ร่ำลาฉทึงเทราย้อนกลับสู่เส้นทางสายเก่าเข้าสู่บางปะกงที่น้ำยังคงขึ้นๆ ลงๆ เช่นเดียวกับใจอนงค์ที่ยังคงเลอะเลือนกะล่อน ผมนั่งหลังพวงมาลัยนั่งฮัมเพลง “รักจางที่บางปะกง” ของสดใส ร่มโพธิ์ทอง ไปตลอดทางสู่พัทยาอันเป็นจุดหมายปลายทางในค่ำคืนนี้
ขอให้มีความสุขทุกท่านนะครับ เจอกันใหม่ยามที่หัวใจถวิลหาและเมื่อเวลาดีๆ มีมาให้พากันออกไปกอดเมืองไทยให้คลายเหงา
เขียนโดย : Tombass
เขียนเมื่อ : วันอังคารที่ 20 ตุลาคม 2558 เวลา 0:22 น. GMT+7 TH
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น