ต้นเหตุมันเริ่มจากเมื่อวานนี้ (จันทร์ 11 สิงหาคม 2557) ไปขุดค้นคุ้ยหาของบางอย่างในห้องเก็บของ แต่ปรากฎว่าไม่เจอสิ่งที่ต้องการ แต่กลับเจอหนังสือเก่าคร่ำเล่มหนึ่งของตัวเอง เป็นหนังสือเกี่ยวกับการถ่ายรูป เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่โลกของการถ่ายภาพ ซึ่งยุคสมัยนั้นยังไม่มีเทคโนโลยีดิจิตัลเฉกเช่นในปัจจุบันที่จะกดถ่ายไปมั่วๆ ถ้าไม่ดีไม่สวย, วัดแสงผิด, จัดองค์ประกอบพลาดหรืออะไรก็ตามแต่ ก็สามารถกดปุ่ม Delete ลบมันทิ้งซะเลยไม่ต้องให้ใครเห็นเป็นที่น่าอับอาย จะได้ยกหางตัวเองเป็นโปรได้ ทั้งที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าระบบวัดแสงทำงานอย่างไรเลย (อุ๊ยตาย .. นอกเรื่องไปหน่อย ขออภัยอย่างแร๊งงงงส์จ้ะ ..!!!)
ในยุคนั้นมันมีแต่ฟิล์มให้เราใช้ ทั้งฟิล์มสไลด์ ฟิล์มสี ขาว-ดำ รวมกับเทคนิคการล้างแบบต่างๆ ทุกอย่างใช้ระบบอัตโนมือล้วนๆ โปรแกรมอัตโนมัติอย่าง PS LR Photoscape หรืออื่นๆ .. ม่ายมีทั้งสิ้น อยากตกแต่งแก้ไขอะไรไปมุดหัวทำเอาในห้องมืดโน่นเลย ทำให้ทุกชัตเตอร์ที่จะกดต้องคิดแล้วคิดอีก ดูทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบ ต้องไม่มีคำว่าพลาดเพราะกว่าจะรู้ว่าดีหรือไม่? ใช้ได้หรือเปล่า? ก็ต้องรอตอนที่ล้าง-อัดรูปออกมาดูแล้วนั่นแหละ และนั่นก็จะหมายถึงเม็ดเงินที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นจากความผิดพลาดของเรานั่นเอง ลองสังเกตได้ง่ายๆ ถ้าใครกดชัตเตอร์ช้าๆ กว่าจะกดแต่ละรูปเนี่ยดูแล้วดูเล่า ดูอยู่นั่นแหละให้สันนิษฐานว่าเป็นนักถ่ายภาพยุคฟิล์มแน่ๆ (ฮ่าๆๆ)
มาเข้าเรื่องของเราดีกว่าหลังจากพร่ำพรรณากันมาแล้วสองย่อหน้า ..
จากการที่ชอบไปนั่งดูภาพจากพวกเวบสต็อคทั้งหลาย เห็นรูปภาพแบบที่เป็นโปรดักส์ลอยโดดเด่นบนพื้นหลังสีขาว อันเป็นรูปแบบพื้นฐานของการถ่ายสินค้าเพื่อการโฆษณาทั่วๆ ไปนั่นแหละ มันเป็นอะไรที่ยืดหยุ่นมาก สามารถนำไปได-คัท รีทัช ดัดแปลงเพื่อใช้งานกับแบ็คกราวนด์หลายๆ แบบได้เป็นอย่างดี ภาพแนวนี้ถูกเรียกว่า Isolated Photography ซึ่งเป็นภาพแนวที่ขายดีมากในเวบสต็อคเพราะสามารถนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้หลากหลายมากกว่าภาพแนวอื่น แต่การถ่ายภาพแบบนี้มันต้องใช้อุปกรณ์เสริมบางอย่างเพื่อผลลัพธ์ที่ดีของภาพ ซึ่งก็มีทั้ง Studio Tent, หัวไฟหรือจะใช้โคมไฟอ่านหนังสือก็ไม่ผิดแปลกแต่ประการใด, ขาตั้งหรือ Clamp สำหรับหนีบ, ฉากที่ทำจากกระดาษ ผ้าหรือ PVC ก็ได้ และอุปกรณ์กระจุกกระจิกอีกนิดหน่อย จะว่าไปพอรวมราคาทั้งหมดแล้วก็เล่นเอาหน้าซีดกระเป๋าแบนแฟนทิ้ง(มันทิ้งไปตั้งนานแล้ว ตั้งแต่กระเป๋ายังไม่แบนโน่นแน่ะ .. ฮ่าๆๆๆ)ไปเลย และจากการไปออกไปเดินสำรวจราคาตามร้านค้าที่จำหน่ายอุปกรณ์กล้องชื่อดังและไม่ดังทั้งหลายแหล่ ก็ได้ความว่าจะต้องอนุญาตให้แบงค์ใบละพันปลิวจากกระเป๋าไปตั้งหลายใบเลยเชียว สุดท้ายจึงเห็นควรด้วยว่าน่าจะเก็บของเก่ามาดัดแปลงใช้เองจะดีกว่า จะได้เข้าขากับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศในยุคขาลงอย่างเช่นทุกวันนี้
เริ่มจากการเข้าไปรื้อของในห้องเก็บของอีกที เพื่อหากล่องใบใหญ่ๆ ที่แข็งแรงๆ สักใบ พลันเหลือบไปเห็นกล่องใส่ทีวี 25” รุ่นเก่าที่ยังเป็นจอลึกเป็นฟุตไม่ใช่จอแบนบางเป็นกระดาษอย่างในปัจจุบัน(เพราะถ้าเป็นกล่องทีวีจอแบนรุ่นใหม่ก็คงจะใช้ไม่ได้ .. เห็นไม๊ของใหม่ใช่ว่าจะดีกว่าเก่าไปเสียหมด .. ฮาาาาา..) รีบยกออกมาปัดฝุ่นที่เกรอะกรัง หยากไย่ที่ห้อยย้อยระโยงระยางอย่างกับของเก่าในบ้านผีสิงที่รายการทีวีบางรายการชอบเอามามอมเมาคนดู
หลังจากทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูให้พอดูดีมีชาติตระกูลขึ้นมาหน่อย ก็เริ่มเอาไม้บรรทัดวัดจากขอบเข้ามาด้านละ 3” แล้วตีเส้นเป็นกรอบเอาไว้ให้รอบ เพื่อประกาศแลนด์มาร์กเอาไว้ แต่ทำแค่ 3 ด้านพอนะ อีกด้านที่เหลือเอาไว้เป็นพื้นของกล่อง ส่วนด้านบน-ล่างไม่ต้องทำอะไร
จากนั้นก็ลงมือตัดเจาะเคาะดึงล้วงลับจับแกะเกาเขย่าขยอก(อันนี้โอเวอร์ไปหน่อยแล้ว . ฮี่ๆๆ ..) ก็แค่เอาคัตเตอร์ตัดเจาะไปตามเส้นกรอบที่เราขีดเอาไว้นั่นแหละ ก็จะได้กล่องใส่ทีวีที่มีรูขนาดใหญ่ 3 ด้าน เอาล่ะ .. เดี๋ยวเราจะกลับมาทำกล่องกันต่อ ..
ตอนนี้ออกไปเดินเล่นห้างสรรพสินค้ากันซะหน่อย แผนกเครื่องเขียนนะ เรากำลังจะไปตามหากระดาษไขหรือกระดาษลอกลาย ที่ห้างดอกบัวมีจำหน่ายอยู่ม้วนละ 19 บาท มีอยู่ 5 แผ่น ขนาดประมาณ 60x70 ซม. แล้วก็กระดาษแข็งสีขาวที่อีกด้านเป็นสีเทา ราคา 22 บาท กระดาษแข็งสีดำด้านหลังสีขาว ราคา 22 บาทเช่นกัน กาว UHU Stick อันนี้ราคา 50 กว่าบาทมั๊งหรือจะใช้กาวลาเท็กซ์ก็ได้นะ จากนั้นก็ออกจากห้างดอกบัวไปต่อกันที่ห้างเดอะ M เข้าไปซื้อกระดาษโปสเตอร์สีดำ 3 แผ่นๆ ละ 19 บาท ส่วนสีขาว 2 แผ่นๆ ละ 29 บาท(แพงอ่ะ..) ส่วนอุปกรณ์อื่นเช่น กรรไกร คัตเตอร์ ไม้บรรทัดเหล็ก แผ่นรองตัด กระดาษกาวผ้า ถ้ามีแล้วก็ไม่ต้องซื้อ ถ้าไม่มีก็ซื้อติดบ้านไว้เป็นประจำก็ดีนะ และสุดท้ายสิ่งสำคัญที่จะลืมไม่ได้ก็คือหลอดไฟและโคมไฟ(ถ้ายังไม่มี)ครับ จะใช้แบบหลอดตะเกียบประหยัดไฟหรือจะเป็นหลอด LED (ประหยัดไฟกว่า..) จะวัตต์สูงวัตต์ต่ำก็ตามแต่กำลังทรัพย์และกำลังศรัทธาของญาติโยมสาธุชนแต่ละท่านเลย อย่าลืมสังเกตดูอุณหภูมิของแสงด้วยนะครับ ที่ผมซื้อมาเป็นหลอด LED ของ OSRAM แบบ Daylight 6500K ขนาด 6W(40W) ความสว่างอยู่ที่ 400 ลูเมนส์ ราคาจะอยู่ที่ 179 บาทต่อหลอด ผมใช้ 2 หลอดนะ
ได้ของครบตามที่ต้องการก็แวะซื้อเบอร์เกอร์ปลาที่เชสเตอร์กริลล์สักหน่อยในฐานะที่อุตส่าห์จัดโปรมาล่อให้ซื้อซะขนาดนี้ ก็เลยต้องสนองตอบความตั้งใจไปสัก 3 ชิ้นกำลังดีเผื่อจะได้เอาเก็บไว้กินคืนนี้ที่อาจจะอยู่ทำกล่องสตูดิโอจนดึกดื่น เอาล่ะสตาร์ทรถรีบขับกลับบ้านก่อนที่รถจะติดในห้างดีกว่า
กลับมาถึงบ้านก็มาบรรเลงกันต่อ
ป้ายกาวให้ทั่วที่ด้านในกล่องบริเวณที่จะติดกระดาษไขแล้วก็เอาแปะลงไปเลย พยายามรีดให้เรียบสม่ำเสมอทั่วกัน(แต่มันไม่เรียบขนาดนั้นหรอก แต่ก็พอใช้ได้อยู่นะ) จัดการให้ครบทั้ง 3 ด้าน เอากระดาษโปสเตอร์สีดำ ติดที่ฝากล่องทั้ง 4 ให้ทั่วเพื่อป้องกันแสงสะท้อน ส่วนด้านใน(ด้านหลังที่เคยเป็นก้นกล่อง)ก็เอากระดาษแข็งวางให้โค้งๆ ไปด้านข้างหน่อยๆ แล้ววางทับอีกทีในแนวเดียวกันด้วยกระดาษโปสเตอร์สีขาวเพื่อเป็นแบ็คกราวนด์ พื้นกล่องเอากระดาษโปสเตอร์สีดำวางเอาไว้แล้วเอากระดาษโปสเตอร์สีขาววางแนวตั้งให้มันโค้งๆ นะจะได้ไม่เห็นเป็นขอบเป็นสันเวลาถ่าย
จากนั้นจัดเอาโคมไฟทั้ง 2 ดวงไว้ที่ด้านข้าง เปิดไฟส่องผ่านกระดาษไขเข้ามาเลย ส่วนด้านบนที่เป็นช่องติดด้วยกระดาษไขไว้นั้น เราจะใช้เพิ่มแสงบนได้(ถ้าต้องการ) เอากล้องตัวเก่งประกบไว้บนขาตั้งกล้องแล้วเลือกตำแหน่งของแหล่งกำเนิดแสง ระยะและทิศทางเพื่อให้ได้ผลของภาพตามที่เราจินตนาการเอาไว้ในหัวได้เต็มที่ จากนั้นก็มาเริ่มสนุกกับการจัดแสงได้ ณ บัดนี้
เขียนเมื่อ : วันอังคารที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2557 เวลา 16:00 น.
ผู้เขียน : Tombass
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น