วันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2555

เดินเรื่อยๆ กับวันว่างๆ .. ที่วัดพระแก้ว ..


บนรถ ปอ.สาย 60 / ถึงหน้ารามฯ แล้ว

ทริปนี้เป็นช่วงฝนเว้นวรรค หลังจากที่บรรจงตกแบบไม่ลืมหูลืมตามาเกือบทั้งเดือนกันยายนนี้ เลยได้ช่องสบโอกาสเหมาะๆ ออกไปเดินเรื่อยเปื่อย ซึมซับกับบรรยากาศอลังการและความวิจิตรงดงามตระการตามิอาจจะหาใดมาเทียบเทียมได้ ของวัดพระศรีรัตนศาสดารามหรือที่เรารู้จักกันในชื่อของ “วัดพระแก้ว” อันเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ของเรามาร่วมสองร้อยกว่าปีแล้ว และยังเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกต อันเป็นที่เคารพสักการะบูชาของปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีได้อัญเชิญมาจากประเทศลาวในรัชสมัยของพระองค์นั่นเอง

ทริปนี้เริ่มกันในวันพฤหัสบดีที่ 27 กันยายน 2555 ผมเลือกที่จะไปเข้าวัดเข้าวากันในวันพฤหัสฯ เพราะว่าเป็นวันอธิบดี ตั้งใจทำอะไรในวันนี้จะสัมฤทธิ์ผลด้วยดีไม่มีอุปสรรคใดๆ มากั้นขวาง เหล่ามารร้ายภัยพาลจะอ่อนกำลังไม่อาจมากร้ำกราย เรื่องร้ายๆ ให้กลับกลายเป็นดีกับเราได้(พูดเป็นหมอดูเลยเนอะ ..)

ครั้งนี้เป็นการไปวัดพระแก้วครั้งแรกของผมแบบที่เป็นทางการ คือตั้งใจไปจริงๆ ไม่ใช่แค่แวะผ่านไปผ่านมาอย่างในสมัยที่ไปเรียนคอมฯ ที่ ม.ศิลปากร วังท่าพระ ซึ่งจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว ภาพวัดพระแก้วที่เคยมองผ่านจากสนามหลวงในวันนั้นยังคงจำติดตราตรึงในความรู้สึก ได้ไม่รู้ลืม แม้วันนี้สภาพโดยรอบจะเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามกาลเวลา แต่ความงดงามของวัดคู่บ้านคู่เมืองของเรานั้นก็ยังแจ่มชัดไม่เคยเสื่อมคลายไปแม้แต่น้อย

 
แยกคลองตัน / นวัตกรรมแห่งความกลมกลืนระหว่างอดีตและปัจจุบัน / ถึงประตูน้ำแล้วจ้า ..

 
ผ่านสะพานขาวเข้าถนนหลานหลวง / พิพิธภัณฑ์พระบามสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว / ป้อมนี้มีชื่อว่าอะไรใครตอบได้บ้าง?

ไม่ขับรถไปเองเพราะขี้เกียจไปหาที่จอดให้ลำบากลำบน ออกเดินทางกันตอนประมาณ 10 โมงครึ่ง โดยใช้บริการรถเมล์สาธารณะปรับอากาศของ ขสมก. ปอ.สาย 60 ที่วิ่งผ่านเส้นทางแถวๆ หน้าบ้านจากเกือบต้นสายแล้วก็ไปลงที่สนามหลวงอันเป็นจุดหมายของเราในวันนี้ก็เกือบสุดปลายสายพอดี ได้นั่งสบายๆ คุ้มจริงๆ จากบ้านที่บางกะปิ วิ่งฝ่าเข้าไปในเมืองผ่านรามคำแหง, คลองตัน เข้าถนนเพชรบุรีตัดใหม่ ตรงยาวเรื่อยไปถึงประตูน้ำ ผ่านราชเทวี สะพานยมราช เข้าสะพานขาว ตรงเข้าถนนหลานหลวงไปออกถนนราชดำเนิน ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แล้วก็เลี้ยวเข้าสนามหลวง ป้ายแรกอย่าเพิ่งลงนะครับ เดินไกล ให้ลงป้ายถัดไป (อันนี้พี่ พกส.เค้าบอกมาครับ .. ขอบคุณครับ)

 
โลหะปราสาทที่วัดราชนัดดา / นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เอาชื่อใส่ใน To do list ไว้ก่อน คราวหน้ามาเจอกันแน่นอน

แล้วก็ถึงสนามหลวงตอนตะวันตรงหัวประมาณเที่ยงนิดหน่อย พอลงรถแล้วก็เดินต่อไปอีกนิดก็จะถึง “ศาลหลักเมือง” ถ้ามีเวลาก็เข้าไปไหว้กันซะก่อนก็ได้ แต่ผมเก็บไว้ทริปหน้าเพราะวันนี้ตั้งใจมาวัดพระแก้วอย่างเดียวจริงๆ ไม่มีใจให้ใครอื่นอีกแล้ว หน้าศาลหลักเมือง มองข้ามถนนไปจะเห็นอนุสาวรีย์ช้างชนกัน(อันนี้ไม่ทราบว่าเค้าเรียกว่าอะไร ผมเลยตั้งเองซะเลย)อยู่กลางแยก และเห็นวัดพระแก้วอยู่ทางซ้ายมืออีกที ข้ามถนนไปเลยครับ ระวังรถด้วยนะ ไปถึงช้างแล้วก็ถ่ายรูปเอาไว้ซะหน่อยก็ดี รอจังหวะให้ไฟแดงแล้วข้ามถนนอีกทีไปยังฝั่งกำแพงวัดพระแก้ว แล้วเดินเลาะเลียบเรื่อยไปตามกำแพงก็จะเจอกับ “ประตูมณีนพรัตน์” เราเป็นคนไทยได้สิทธิพิเศษเข้าทางประตูนี้ได้ครับ ส่วนชาวต่างชาติต้องเดินไปเข้าประตูถัดไปครับ

 
ลงรถเมล์แล้วเดินมาหน่อยนึงก็จะถึง “ศาลหลักเมือง”

 
เห็นอนุสาวรีย์ช้างชนกัน (อันนี้ผมเรียกเองนะ .. ไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเรียกว่าอะไร?) อยู่กลางแยก ถัดไปทางซ้ายก็จะเห็นวัดพระแก้วอยู่แค่เอื้อม

 
มาดูใกล้หน่อยซิ .. / ประตูมณีนพรัตน์ คนไทยเข้ากันได้ทางนี้แหละ / เข้ามาแล้วเลี้ยวซ้ายเดินไปตามทางนี้แหละ ห้องน้ำจะอยู่ด้านซ้ายมือนี่เอง

เข้าประตูแล้วให้เดินเลี้ยวซ้ายนะครับไปตามทาง ถ้าใครร้อนอยากจะล้างหน้าล้างตาหรือจะพาน้องไปร้องไห้ก็แวะก่อนได้ครับ ห้องน้ำสะอาดอยู่ทางซ้ายมือมีไว้บริการทุกท่าน เดินต่อไปจะพบกับมุมมหาชน เจดีย์ใหญ่ตั้งเรียงกันอย่างเป็นระเบียบสวยงาม ใครได้เห็นก็อดใจไม่ไหวต้องควักกล้องของตัวเองขึ้นมากดชัตเตอร์กันคนละภาพสองภาพ ได้ภาพจนพอใจแล้วก็เดินกันต่อเถอะครับ

 
มุมมหาชน ถ่ายเก็บเอาไว้เสียหน่อย เดี๋ยวเพื่อนแซวว่ามาไม่ถึง ..


ประกาศข้อปฏิบัติในการเข้าชมวัดพระแก้ว เป็นภาษาไทยเอาไว้ให้คนไทยเรานี่แหละ .. อ่าน ..

ไปตามทางจะบังคับเลี้ยวขวาเดินตรงต่อไปจะพบประตูอีกประตูหนึ่งอยู่ตรงข้ามกับสำนักงานของวัด แต่ไม่เปิดนะครับประตูนี้ ให้เดินต่อไปอีกจะพบทางเข้าต้องเดินผ่านเจดีย์คู่เข้าไป จะเจอกับป้ายแจ้งข้อปฏิบัติในการเข้าชม อ่านให้เข้าใจแล้วช่วยกันปฏิบัติตามเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีให้นักท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย

ผ่านประตูเจดีย์คู่เข้าไป เดี๋ยวผมจะพาไปรู้จักกับยักษ์แต่ละตนที่ยืนเฝ้าประตูต่างๆ ของวัด ว่าแต่ละตนมีชื่อเสียงเรียงนามว่าอย่างไรกันบ้าง ส่วนประวัติของแต่ละตนลองไปค้นกันเองดูก่อนนะครับ ถ้ามีโอกาสแล้วจะรวบรวมเป็นอีกเอนทรี่หนึ่งแยกต่างหากให้ได้รับชมกัน ก่อนจะไปต่อก็จัดหาซื้อดอกไม้ธูปเทียนมาไหว้พระเพื่อเอาฤกษ์เอาชัยเป็นศิริมงคลกับชีวิตตัวเรากันก่อน แล้วค่อยไปกันต่อ ตรงประตูต่างๆ ทุกๆ ประตูจะมียักษ์ยืนเฝ้าอยู่ประตูละ 2 ตน เริ่มที่ประตูนี้ยักษ์สีฟ้าชื่อ" “วิรุฬหก” และยักษ์สีเขียวชื่อ “มังกรกัณฐ์” และที่ตั้งอยู่ถัดไปทางซ้ายก็เป็น “หอคันธารราษฎร์” เดินอ้อมไปอีกหน่อยจะพบกับ “หอระฆัง”

 
ยักษ์สีเขียวชื่อ “มังกรกัณฐ์” / ยักษ์สีฟ้าชื่อ “วิรุฬหก”

 
“หอคันธารราษฎร์” / “หอระฆัง”

สังเกตได้ว่างานสถาปัตยกรรม, ประติมากรรมแต่ละชิ้นนั้น จะถูกบรรจงเสกสรรค์ปั้นแต่งอย่างเพียรพยายามและด้วยฝีมืออันเจนจัดชำนิชำนาญในกระบวนวิชาแต่ละด้าน ทำให้ชิ้นงานที่ออกมานั้นงดงามอ่อนช้อยเปรียบเสมือนดั่งมีชีวิต เพราะช่างสิบหมู่ในยุคนั้นได้ใส่จิตวิญญาณของตัวเองเข้าไปในงานแต่ละชิ้นด้วยความอุตสาหะทุ่มเท และคงไว้เป็นมรดกแห่งความภูมิใจให้กับลูกหลานไทยรุ่นต่อมาจนปัจจุบัน อันที่ได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ขนาดที่ว่าฝรั่งต่างชาติต้องยอมเสียเงินเสียทองบินข้ามน้ำข้ามทะเลนับพันไมล์เพื่อขอให้ได้เข้าชมซักครั้ง

 
งดงามเพียงใดก็ลองชมเอาเองนะครับ / ยักษ์สีแดงชื่อ “ทศคีรีธร” / ยักษ์สีเขียวชื่อ “ทศคีรีวัน”

กลับมาว่าเรื่องของเรากันต่อดีกว่า

จากหอระฆังเดินต่อมาจะพบประตูทางเข้าอีกทาง ซึ่งก็แน่นอนล่ะว่าย่อมต้องมียักษ์เฝ้าประตูอยู่อีก 2 ตน โดยยักษ์สีแดงชื่อ “ทศคีรีธร” ส่วนยักษ์สีเขียวชื่อ “ทศคีรีวัน” ซึ่งถ้าใครเคยได้ไปใช้บริการสนามบินสุวรรณภูมิ ก็จะพบทั้งสองตนนี้เช่นกัน เพราะทั้งสองไปรับจ๊อบยืนเฝ้าสนามบินอีกด้วย ใกล้ๆ กันก็จะมีใบเสมา ตามคติทางพุทธศาสนา พื้นที่ในขอบขัณฑ์พัทธสีมา เป็นบริเวณประกอบกิจของสงฆ์ ผมลองค้นมาให้อ่านกันครับ เอาไว้ประดับความรู้

ใบเสมาโบราณของไทย

แต่ครั้งโบราณกาล เสมามีความสำคัญต่อพุทธสถานอย่างยิ่ง การที่จะเรียกว่าวัดนั้นเป็นวัดได้ จะต้องมีหลักแบ่งเขตชัดเจนสำหรับการทำพิธีกรรมทางศาสนา และหลักที่ปักเพื่อแบ่งเขตที่ว่านี้ มีชื่อเรียกว่า “ใบเสมา”

เสมา หรือที่มีนักวิชาการบางท่านเรียกว่า “สีมา” ตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ หมายถึง เขตกำหนดความพร้อมเพรียงของสงฆ์ หรือเขตชุมนุมของสงฆ์ หรือเขตที่สงฆ์ตกลงไว้สำหรับภิกษุทั้งหลายที่อยู่ภายในเขตนั้นจะต้องทำสังฆกรรมร่วมกัน

เสมา แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ
1. พัทธสีมา แปลว่า แดนที่ผูก ได้แก่ เขตที่พระสงฆ์กำหนดขึ้นเอง
2. อพัทธสีมา แปลว่า แดนที่ไม่ได้ผูก ได้แก่ เขตที่ทางราชการกำหนดไว้ หรือเขตที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นเครื่องกำหนด และสงฆ์ถือเอาตามเขตที่กำหนดนั้น โดยไม่ได้ทำหรือผูกขึ้นใหม่

ความสำคัญของการมีเสมานี้ เนื่องจากพระพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุต้องทำอุโบสถ ปวารณา และสังฆกรรมร่วมกัน โดยเฉพาะการสวดปาฏิโมกข์ ซึ่งต้องสวดพร้อมกันเดือนละ 2 ครั้ง จึงเกิดหลักแดนในการที่สงฆ์จะร่วมกันกระทำสังฆกรรม โดยมีหลักบ่งชี้คือใบเสมา

หากต้องการอ่านเพิ่มเติมคลิ๊กลิ้งค์นี้ครับ

เอาล่ะหลังจากทำความรู้จักกับใบเสมากันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็เดินย้อนขึ้นมาเดินบนระเบียงโบสถ์ มองเห็นพระเจดีย์แต่ไกลเลย แต่ยังไม่ไปนะครับ ขอเดินเลาะไปตามระเบียงโบสถ์ก่อน มองซ้ายมือจะเห็นทางขึ้นปราสาทพระเทพบิดร เดี๋ยวเราเดินไปดูด้วยกันเลยครับ

 

 

 
ทางขึ้น “ปราสาทพระเทพบิดร” / เจดีย์นี้อยู่ทางขวาของทางขึ้นจะเห็นมีทั้งยักษ์ทั้งลิงช่วยกันแบกอยู่

ขึ้นบันไดไปก็จะพบกับทางเข้า “ปราสาทพระเทพบิดร” แต่ปิดครับไม่ได้ให้เข้าชมด้านใน ทางขวาเป็นเจดีย์มียักษ์กับลิงช่วยกันแบกไว้ แต่เราเดินวนซ้ายดีกว่า ก่อนจะไปถึงเจดีย์ใหญ่ที่เราเห็นในตอนแรกก็ต้องผ่าน “พระมณฑป” ซะก่อน แล้วก็ตามด้วย .. เอ่อ .. เค้าเรียกว่าอะไรน๊า .. จำไม่ได้ครับ ขอโทษด้วย ใครทราบช่วย reply บอกผมด้วยนะครับ

 
“ปราสาทพระเทพบิดร” / เข้าไปดูใกล้ๆ หน่อย / ก่อนจะเดินไปถึงพระเจดีย์

 
“พระมณฑป” / ทางขึ้นพระมณฑปแต่ปิดไว้ครับ .. (ทำไมถ่ายเอียงล่ะตรู .. ) / อันนี้เรียกว่าอะไรผมจำไม่ได้ .. ใครทราบช่วยเข้ามาบอกหน่อยนะครับ


“พระศรีรัตนเจดีย์” / ทางเข้าเจดีย์ถูกปิดเอาไว้ ..

จากนั้นเดินต่อไปก็จะไปถึงพระเจดีย์ใหญ่สีทองอร่ามตา มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “พระศรีรัตนเจดีย์” ตรงนี้นักท่องเที่ยวจะเยอะหน่อย ใครๆ ก็จะมาถ่ายรูปคู่กับพระเจดีย์กันตรงนี้และยังมีบันไดตรงด้านหน้าพระเจดีย์เลย กลายเป็นมุมมหาชนไปอีกหนึ่งมุม เวลาถ่ายรูปก็ทำหน้าตาบ้องแบ๊วเป็นปลาทองอมบ๊วยกับท่าทางประหลาดๆ คู่กับพระเจดีย์ (เอ่อ .. มันเข้ากันตรงไหร(ว๊ะ)ครับ?) ถ้าเป็นชาวต่างชาติก็ยกไว้เพราะอาจจะไม่ทราบไม่เข้าใจถึงวัฒนธรรมประเพณีของเรา แต่กับคนไทยนี่สิ มันช่างไม่รู้จักกาลเทศะเอาซะเลย อยากจะถ่ายรูปมาให้ดูจริงๆ แต่ไม่อยากถูกฟ้องร้องเพราะไปละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของใครๆ .. เฮ้อ ..

มีเรื่องให้บ่นจนได้สิหนอ สงสัยเราจะหน้าแก่แล้วยังหัวเก่าอีก บอกตรงๆ ว่าไม่ได้ต่อต้านหรอกนะ ผมก็เห็นว่ามันก็ดูน่ารักดีนะ ถ้าจะอยู่ในสถานที่และเวลาที่ถูกต้องถูกกาลเทศะ ผมก็เห็นดีเห็นงามด้วยนั่นแหละ แต่นี่มัน .. เอ่อ .. แบบว่า .. ยังไงดีล่ะ? .. พอดีกว่า เข้าวัดทั้งทีทำจิตใจให้เบิกบาน มองข้ามเรื่องไร้สาระของคนไร้ความคิดไปซะ เดินไปต่อกันดีกว่า

 
ยักษ์สีขาวชื่อ “จักรวรรดิ” / ยักษ์สีม่วงชื่อ “อัศกรรณมารา”

ผ่านพระศรีรัตนเจดีย์มาก็เจออีกประตูนึง เช่นเดิมมียืนกันอยู่ 2 ตน เดินลงไปดูกันหน่อยซิ ยักษ์สีขาวชื่อ “จักรวรรดิ” และยักษ์สีม่วงชื่อ “อัศกรรณมารา” เดินต่อไปก็เจออีกประตูแล้ว ประตูต่อไปนี้มียักษ์ชื่อกระฉ่อนโลกยืนเฝ้าอยู่พร้อมกันกับญาติอีกหนึ่งตน ยักษ์สีเขียวคงรู้จักกันดีนั่นก็คือ “ทศกัณฑ์” ส่วนยักษ์สีขาวเป็นญาติกันชื่อ “สหัสสเดชะ”

 
ยักษ์สีเขียวนี่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว ก็คือ “ทศกัณฑ์” นั่นเอง / ที่ยืนอยู่ข้างๆ กันก็เป็นญาติสนิทชื่อ “สหัสสเดชะ”

เดินกลับขึ้นมาด้านบนระเบียงของปราสาทพระเทพบิดรกันต่อ มองลงไปเห็นนักท่องเที่ยวมากมายเยอะแยะไปทั่วบริเวณทั้งเอเชีย, ตะวันออกกลาง, ยุโรป, อเมริกา เรียกได้ว่าหลั่งไหลมากันจากทั่วทุกมุมโลก ทุกบริษัททัวร์ก็ต้องจัดโปรแกรมเที่ยวชมวัดพระแก้วไว้ให้ลูกทัวร์ชนิดที่เรียกว่าขาดไม่ได้เลย แต่ก็น่าเสียดายที่การเที่ยวชมวัดพระแก้วของกรุ๊ปทัวร์นั้นดูจะมีเวลาน้อยไปสักนิด ยังไม่ได้เห็นของดีของประเทศไทยอย่างทั่วถึง ก็อย่างว่านั่นแกหละครับ ถ้าชาวต่างชาติคนคนไหนมาเที่ยวเมืองไทยแล้วไม่มาเที่ยวชมวัดพระแก้ว ก็เหมือนมาไม่ถึงเมืองไทยเนอะ .. ว่าป่ะ .. กลับมาต่อกันดีกว่าครับ ตามระเบียงของปราสาทฯ ก็จะมีรูปสัตว์หิมพานต์ยืนเรียงรายตามทางเดินรอบๆ เป็นระยะๆ ลองสังเกตรอบๆ จะพบได้มากมายทีเดียว

แล้วก็มาถึงอีกประตูนึง ไปดูกันหน่อยซิว่าตนไหนเฝ้าประตูนี้อยู่ ยักษ์สีม่วงมีชื่อว่า “มัยราพณ์” ส่วนยักษ์สีน้ำเงินมีชื่อว่า “วิรุญจำบัง” แล้วก็ลองเดินลงบันไดไปดูด้านล่างกันบ้างซึ่งเป็นที่ตั้งของ “หอพระนาก” จะมีตุ๊กตาหินที่ล่องสำเภามาจากแดนไกลจีนโพ้นทะเล เพื่อมาขึ้นฝั่งที่กรุงรัตนโกสินทร์แห่งสยามประเทศ แล้วก็มายืนเฝ้าสวนอยู่ในวัดพระแก้วข้างๆ ปราสาทพระเทพบิดรแห่งนี้ พร้อมกับผองเพื่อนที่บินมาจากป่าหิมพานต์โดยมาเข้าประจำการอยู่ก่อนแล้ว เดินเก็บภาพจนพอใจก็เดินกลับขึ้นไปบนระเบียงของปราสาทเพื่อเดินไปต่อ จวนจะครบรอบปราสาทเทพบิดรแล้วล่ะ

 
ยักษ์สีม่วงชื่อ “มัยราพณ์” / ส่วนยักษ์สีน้ำเงินชื่อ “วิรุฬจำบัง”

 
ตุ๊กตาหินที่ล่องสำเภามาจากเมืองจีน / สัตว์หิมพานต์ตัวนี้ชื่ออะไรใครช่วยบอกทีนะ / “หอพระนาก”

กลับขึ้นมาบนระเบียงปราสาทฯ ก็พบกับความอลังการงานสร้างอีกชิ้นหนึ่ง นั่นก็คือ “นครวัดจำลอง” ขนาดย่อส่วน แต่ขอโทษเถอะครับ ทำได้ละเอียดลออมากมายแสดงถึงฝีมืออันสูงส่งของช่างได้เป็นอย่างดี เอาล่ะเดินอ้อมมาจนเกือบถึงเจดีย์ที่ยักษ์กับลิงช่วยกันแบกไว้ดังที่เห็นกันในตอนแรกแล้ว พอดีเดินขึ้นมาก็เจอกับสัตว์หิมพานต์อีกก็เลยเก็บภาพเอาไว้ซักหน่อย ลองดูเอานะครับเป็นงานประติมากรรมที่แสดงความมีศิลปะในความคิดสร้างสรรค์สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นสัตว์ในจินตนาการที่ไม่เคยมีใครเห็นตัวจริง แต่ก็ยังสามารถปั้นแต่งออกมาได้อย่างงดงาม รู้สึกได้ถึงความมีอยู่ของแต่ละตัวอย่างชัดแจ้ง

 
“นครวัดจำลอง”

 
พบได้ตามริมระเบียงรอบๆ ปราสาทพระเทพบิดรครับ ..

เอาล่ะมาถึงเจดีย์กันซะทีแสดงว่าเดินจนครบรอบแล้ว มาดูกันครับ คิดว่าน่าจะสร้างจากคติความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ที่อยู่เคียงคู่กับวัฒนธรรมของชาวพุทธอย่างกลมกลืนจนแยกไม่ออกมาแต่ครั้งอดีตกาล พระเจดีย์นี้มีทั้งยักษ์ทั้งลิงมาช่วยกันแบกเอาไว้ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าตัวไหนเป็นลิง ตนไหนเป็นยักษ์กันล่ะ ผมได้ไปถามท่านเจ้าหน้าที่ ท่านก็ให้ความอนุเคราะห์เล่าให้ฟังว่า การสังเกตแบบง่ายๆ มองแว๊บเดียวก็ทราบได้ทันที ให้เราดูจากเท้าครับ เพราะถ้าเป็นยักษ์จะใส่รองเท้า ส่วนถ้าเป็นลิงจะไม่ใส่รองเท้า มองง่ายสุดครับ ส่วนอื่นๆ ก็ลองมองที่หน้าก็พอจะทราบได้ไม่ยาก เอาไว้เป็นความรู้นะครับ เวลาไปดูมีข้อมูลไปบ้างจะได้เดินเที่ยวอย่างสนุกสนานยิ่งขึ้น

 

 
แบกกันเข้าไป .. เอ้า .. ฮึ๊บ ..

 
ลิงไม่ใส่รองเท้า .. ส่วนยักษ์จะมีรองเท้าใส่ด้วยนะ .. (ส่วนเสื้อเหลืองๆ ที่อยู่ไกลๆ โน่นไม่ต้องไปดูนะครับ .. เพราะเธอใส่ได้บางซะเหลือเกิ๊นเชียว .. ติดเข้ามาในเฟรมโดยไม่ได้ตั้งใจ ขออภัยครับ .. ตั้งใจให้ดูข้อแตกต่างของลิงกับยักษ์น่ะครับ)

เอาล่ะแล้วก็เดินมาถึงประตูสุดท้าย(แล้ว .. มั๊ง) ก็จะต้องขนาบข้างด้วยยักษ์เฝ้าประตูอีก 2 ตนนั่นก็คือยักษ์สีแดงจะชื่อ “อสุรยาภพ” ส่วนยักษ์สีเขียวชื่อ “อินทรชิต” หวังว่าคงจะครบถ้วนทุกประตูแล้วนะครับ จากตรงนี้เราก็เดินเข้ามาสู่พระอุโบสถอันเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตกันซะที

 
ยักษ์สีแดงชื่อ “อสุรยาภพ” / ส่วนยักษ์สีเขียวชื่อ “อินทรชิต”

ก่อนเข้าไปบนพระอุโบสถ ต้องถอดรองเท้าก่อนนะ แยกไว้ชัดเจนระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติ ไม่ใช่มาผสมปนเปกันมั่วไปหมดไม่ได้นะ มีชั้นวางรองเท้าให้อย่างเรียบร้อย เสร็จแล้วเดินขึ้นไปบนพระอุโบถ มองเห็นพระแก้วมรกตอยู่ไกลๆ ในโบสถ์ แสงด้านในไม่พอแน่นอน เพราะฉะนั้นถ้าจะไปถ่ายรูปวัดพระแก้วห้ามลืมขาตั้งกล้องแบบผมโดยเด็ดขาด เพราะผมไปครั้งแรกและคิดว่าถ่ายกลางวันเลยขี้เกียจแบกขาตั้งกล้องไป งานนี้เลยต้องอาศัยวางพาดกับอะไรแถวๆ นั้นเพื่อให้ได้ภาพ แต่ก็มีตู้อะไรไม่รู้ตั้งโด่เด่ขวางอยู่กลางภาพ งานนี้ต้องพกเทเลไวแสงไปด้วยอีกตัวถึงจะครบสูตร จะได้ภาพที่คาดหวังจะเอาไปใช้งานได้จริง แต่ถ้าขี้เกียจแบกขี้เกียจพกไป ก็จะได้ภาพประมาณที่ผมได้มานี่แหละหนอ

 
ภาพจากด้านหน้าทางเข้าพระอุโบสถ .. เค้าเรียกกันว่า “ครุฑยุดนาค” .. อ่านเพิ่มเติมคลิ๊กลิ้งค์นี้ครับ

 
องค์พระแก้วมรกต .. ช่างงดงามเหนือคำบรรยาย .. เป็นบุญตาของผมจริงๆ

ถ่ายได้แต่เฉพาะจากด้านนอกเท่านั้น เอากล้องเข้าไปได้แต่ห้ามถ่ายด้านใน และเข้าไปนั่งชมได้เฉยๆ ในพื้นที่ที่จัดเอาไว้ให้เท่านั้น ผมก็ได้เข้าไปนั่งดื่มด่ำกับความงดงามตระการตาขององค์พระแก้วมรกตและภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถ ต้องไปเห็นเองครับแล้วจะทราบว่าอาการตะลึงพรึงเพริดมันเป็นเช่นไร จิตสำนึกถูกปลุกขึ้นมาให้รู้สึกตระหนักถึงความรักและหวงแหนสมบัติล้ำค่าของชาติขึ้นมาในบัดดล

ยังนึกถึงตอนที่มีกีฬาสีกลางกรุง ที่มีไอ่ชาติชั่วตัวหนึ่งที่มันรับคำสั่งจากใครบางคนให้ทำเลวระยำคิดเอาปืนมายิงถล่มเพื่อหวังจะทำลายวัดคู่บ้านคู่เมืองที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์อันไม่อาจประเมินค่าได้แห่งนี้ แต่ด้วยบุญบารมีของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครองปกป้องภยันตรายให้ชาวไทยเป็นเหตุให้พวกมันกระทำการไม่เป็นผลสำเร็จ ขอสาปแช่งให้มันจงตายไปทั้งชาติตระกูลทั้งคนสั่งคนทำ ขอจงไม่ได้ผุดได้เกิดอีกต่อไป ลงไปชดใช้กรรมที่มันก่อไว้กับประเทศชาติในนรกอเวจีที่มีแต่ความทุกข์ทรมานด้วยเถิด ขอโทษด้วยที่สบถคำรุนแรงเพราะยังแค้นไอ่คนคิดทำเรื่องแบบนี้ไม่หาย (บอกไว้เลยว่าย่อหน้านี้เป็นความเห็นส่วนตัว ใครคิดจะมาคอมเม้นท์เรื่องนี้ก็ไม่ต้องมาเขียนที่นี่ ขอบคุณ)

ปิดสวิตช์ความโกรธกลับมาสู่อารมณ์ปรกติ เกือบจะจบทริปอยู่แล้วเชียว .. อารมณ์เสียว่ะ ..

 
“พระฤาษีชีวกโกรมารภัจจ์” ด้านหน้าของปู่ฤาษีจะเป็นหินบดยา ..

ออกจากพระอุโบสถ ก่อนจะกลับบ้านกันก็เดินไปกราบ “พระฤาษีชีวกโกมารภัจจ์” ที่รูปปั้นของท่านนั่งอยู่ด้านท้ายโบสถ์ พร้อมหินบดยา ใครเจ็บป่วยไข้ไม่สบายก็ลองไปขอให้ท่านช่วยดูสิ ของแบบนี้ต้องมีศรัทธานะครับจึงจะบังเกิดผล จะมากจะน้อยก็แล้วแต่กำลังและความตั้งใจ หากใครแค่หวังจะมาลองของลองดี ก็ไม่เกิดผลใดๆ หรอกครับท่าน

วันนี้ก็คงจะพอก่อนเพียงเท่านี้แหละ นี่ก็ล่วงเลยมาจนบ่ายสามโมงเข้าไปแล้ว ผมเดินออกมาทางเดิมกับที่เข้ามานั่นแหละครับ เดินย้อนกลับไปตามทางแวะล้างหน้าล้างตาให้สดชื่นคลายเหนียวหน้าเหนียวตัวไปบ้าง พร้อมกับพาน้องไปร้องไห้ซะให้เรียบร้อย เพราะขากลับคงต้องนั่งรถกันยาวนานแน่นอน เรียบร้อยก็เดินออกมาทางประตูมณีนพรัตน์ที่เราเข้ามาเมื่อตอนกลางวันนั่นแหละ ท้องฟ้าก็เริ่มครึ้ม เมฆฝนเริ่มลอยตัวลงต่ำชี้ให้เห็นว่าถ้าไม่ถูกลมพัดไปที่อื่นตัวข้านี้จะเทลงมาตรงนี้แล้วนะ ป้ายรถเมล์ที่สนามหลวงก็ไม่มีหลังคาเสียด้วยเพราะกลัวจะบดบังภูมิทัศน์

เอาล่ะสิ รอมาครึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว รถประจำทางปรับอากาศ ปอ.สาย 60 ก็ยังไม่มาสักที เห็นท่าไม่ดีนั่งรถเมล์ธรรมดาสาย 60 ก็ได้ ขืนยังดื้อดึงยืนรออยู่แถวนั้นแล้วยังไม่ได้ขึ้นรถ มีโอกาสจะเปียกมะล่อกมะแล่กสูงมาก อย่างไรเสียถ้าขึ้นรถตั้งแต่ที่สนามหลวงยังไงก็ได้นั่งอยู่แล้ว แต่ดันไปนั่งตรงโพรงล้อพอดี เลยนั่งขดเป็นกุ้งเมื่อยขาเมื่อยก้นมาตลอดทาง แล้วก็มาถึงบ้านโดยปลอดภัยในเวลาประมาณ 5 โมงเย็น

เป็นอันว่าจบทริปนี้ไปอย่างเรียบร้อยดี ใช้เงินไปไม่ถึง 40 บาท จ่ายเฉพาะค่ารถเมล์ปรับอากาศ(ขาไป)แล้วก็รถเมล์ธรรมดา(ขากลับ) เท่านั้น ข้าวปลาอาหารกินก่อนออกจากบ้าน น้ำท่าไม่ต้องกินเพราะขี้เกียจถือให้วุ่ยวายเลยไม่ต้องจ่ายค่าอะไรอีกเลยซักบาทเดียว ประหยัดจริงๆ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

ไปอ่านในแบบ Forum คลิ๊กที่นี่ ..

ชมภาพเพิ่มเติม คลิ๊กที่นี่ เลยครับ

 

เขียนเมื่อ : วันพฤหัสบดีที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2555 เวลา 23:12 น. GMT+7 TH
ผู้เขียน :Tombass

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น